ออกแบบไลฟ์สไตล์ให้ตัวเอง

เราควรออกแบบกิจวัตรประจำวันของเราให้รวมเอาทุกสิ่งที่อย่างที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายชีวิตในระยะยาวของเราแล้วทำให้ได้เป็นนิสัยแบบไม่ต้องคิดหรือใช้ความพยายามเลยเหมือนการแปรงฟันทุกวัน

หลังจากที่ได้ลองออกแบบกิจวัตรแล้วทำตามมาได้ระยะหนึ่ง ก็ได้เห็นข้อดีข้อเสียหลายอย่าง ตอนนี้ก็เรียกว่าพร้อมแล้วที่จะกำหนดกิจวัตรประจำวันอย่างเป็นทางการสักที

หลายสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับตัวผมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้รู้สึกว่า ความสำเร็จช่างเป็นสิ่งที่ irrelevant เราเริ่มเห็นคุณค่าของการมีความสุขมากกว่าความสำเร็จ เป้าหมายปัจจุบันของผมจึงกลายเป็นอยากเป็นคนมีความสุข

คำแนะนำหนึ่งที่ค่อนข้างมีอิทธิพลสำหรับผมคือ คนที่จะมีความสุขเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณได้ต้องมีพร้อมในสามเรื่องคือ สุขภาพ เงิน และความสัมพันธ์กับคนอื่น ดังนั้นกิจวัตรของผมก็ควรจะยึดตามคำแนะนำนี้ด้วย

ผมเป็นคนโชคดีที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่มีความสุขได้จากกิจกรรมที่ค่อนข้างง่าย คือได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ จนเกิดสภาวะ Flow แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ดังนั้นผมจึงแค่อยากใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมที่มีความสุขเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด ได้แก่ การได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นวัตกรรมต่างๆ การได้เสพงานศิลปะที่เต็มไปด้วยไอเดียความคิดสร้างสรรค์ เช่น หนังซีรีส์ดีๆ อาหารอร่อยๆ หรือแม้แต่การได้ใช้ชีวิตง่ายๆ เนิบช้า อย่างการทำกับข้าวง่ายๆ กินเอง ก็ทำให้ผมมีความสุขได้อย่างน่าประหลาด เป็นต้น แต่ก็มีกิจกรรมบางจำพวกที่ทำให้มีความสุขในระยะสั้น แต่ระยะยาวทำให้เครียด ได้แก่ การเล่นโซเซี่ยล การเสพข่าวดราม่า การเมือง เป็นต้น เหล่านี้ทำให้เรากลายเป็นทาสของโดพามีน ผมขอเลือกที่จะทำกิจกรรมเหล่านี้ให้น้อยลง

ที่จริงแล้วผมชอบอ่านหนังสือมาก การได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม จิบกาแฟ แอร์เย็นๆ นั่นคือความสุขที่สุดแล้ว แต่ในความโชคดีนี้ก็มีความโชคร้าย ช่วงหลังผมมีปัญหาสายตาเยอะมาก และกินกาเฟอีนไม่ได้แล้วด้วย ก็เลยต้องทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ทำให้มีความสุขเหมือนกันแต่ไม่ต้องใช้สายตาเยอะแทน ตัวอย่างเช่น การฟังPodcast ฟังเพลง ฟังวิทยุ ฟังหนังสือเสียง เล่นดนตรี การออกกำลังกายแบบไม่หนัก เป็นต้น แต่กิจกรรมที่ผมเลือกทำเป็นประจำจะต้องไม่สร้างคาร์บอนมากเกินไป หรือใช้เงินเยอะๆ

สรุปแล้ว กิจวัตรประจำวันของผมได้แก่

  1. วิดพื้นให้ได้ 100 ครั้งแบบถูกท่า
  2. ฟัง Podcast เพื่อหาข่าวที่เพิ่มพูนโลกทัศน์ของตัวเอง และอะไรก็ได้เกี่ยวกับภาษาจีน
  3. หัดเล่นกีต้าร์ 15-30 นาที
  4. อยู่หน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน

เวลาที่เหลือจากนี้ในแต่ละวันก็พยายามใส่กิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุขเข้าไปให้เยอะๆ นอกจากนี้แต่ละสัปดาห์ผมจะมีภารกิจได้แก่

  1. วิ่งครั้งละ 25 นาที อย่างน้อยหนึ่งครั้ง (ideally 3 ครั้ง)
  2. นั่งสมาธิครั้งละ 15-30 นาที หนึ่งครั้ง
  3. กินมื้อเดียวทุกวันพฤหัส
  4. ทำอาหารกินเองอย่างน้อยหนึ่งมื้อ

ผมตัดสินใจลดเวลาหน้าจอลงเหลือวันละไม่เกินหนึ่งชั่วโมง เพื่อลดการใช้สายตา และลดการเสพติดโซเซี่ยล ซึ่งการหันมาฟัง Podcast เป็นอะไรที่ตอบโจทย์นี้ได้ดี (และยังตอบโจทย์เรื่องการลงทุนไปด้วย) นอกจากนี้ ผมจะต้องทำ content ลงเน็ตให้น้อยลงด้วย ไม่ว่าจะเป็นยูทิวบ์ หรือบล็อก จะเขียนเฉพาะเรื่องที่อยากทำมากจริงๆ เท่านั้น เพื่อลดเวลานั่งหน้าจอตัดต่อคลิป จะว่าไปที่ผ่านมาผมก็หาคำตอบไม่ได้เหมือนกันว่าผมจะทำคอนเทนท์ไปเยอะๆ ทำไม มันอาจเป็นแค่ความหิวแสงของตัวเราเอง ต่อไปนี้ผมจะหันไปเล่นพวก Reddit หรือทำ Review สั้นๆ มากขึ้นแทน เช่น รีวิวร้านอาหารที่ได้ไปกินมา ซีรีส์ที่เพิ่งดูจบ ความรู้ใหม่ๆประจำวัน ฯลฯ แค่นี้ก็พอ เน้นเนื้อหาเชิงบวก เป็นการใช้โชเซียลเพื่อพัฒนาด้านสังคมแทน (มี engagement กับคนที่มีความสนใจแบบเดียวกัน)

 

คำตอบของ Albert Camus

Existentialism บอกว่า ชีวิตนั้นไร้ความหมาย (absurdity) ทำให้เรารู้สึกอึดอัด (anxiety) ซึ่งถ้าเราไม่หนีความอึดอัดด้วยการฆ่าตัวตาย เราก็ต้องหันเข้าหาความเชื่อต่างๆ เพื่อหลอกตัวเองว่า ชีวิตมีความหมายบางอย่างอยู่ เราจะได้ไม่ต้องรู้สึกทุกข์จากความอึดอัดอันนี้ แต่การหันเข้าหาความเชื่อก็คือการฆ่าตัวตายอีกรูปแบบหนึ่งอยู่ดี เป็นการฆ่าตัวตายทางจิตวิญญาณ คือหลับหูหลับตาใช้ชีวิตไปตามความเชื่อ เหมือนกับไม่เคยมีชีวิตอยู่นั่นเอง

มาถึงตรงนี้ทำให้ผมเข้าใจผิดมาตลอดว่า Existentialism บอกให้ยอมรับความจริงว่าชีวิตไร้ความหมาย ทั้งที่มันอึดอัดและทรมานก็ตาม ที่จริงแล้ว Albert Camus คิดว่า การยอมรับความจริงนี้แล้วทำให้ชีวิตที่ไม่มีความสุข ก็ไม่ใช่ทางออกเช่นเดียวกัน เพราะคือการยอมจำนนต่อคำสาบนั้น ซึ่งก็แย่อยู่ดี

Albert Camus เห็นว่าเรายอมรับความจริง แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ให้กบฎต่อความจริงนั้น  (Existential Rebel) คือมีความสุขให้ได้ แม้ว่าจะรู้ว่าชีวิตไร้ความหมายก็ตาม

คนที่มีความสุขเพราะหันเข้าหาความเชื่อ กับคนที่มีความสุขเพราะเป็น Existentialist นั้น ดูผิวเผินแล้วคล้ายกัน แต่จริงๆ แล้วมีเส้นบางๆ ระหว่างคนที่มีความสุขสองแบบนี้

การสร้างความหมายให้ชีวิต ด้วยการเชื่อมโยงกับเป้าหมายชีวิตบางอย่าง เหมือนอย่างที่นักจิตวิทยาแนะนำว่าจะทำให้เรามีความสุขนั้น สุดท้ายแล้ว นอกจากชีวิตจริงจะทำให้เราผิดหวังได้แล้ว เราก็ยังหนีไม่พ้นคำสาปของ Sisyphus อยู่ดี จึงยังไม่ใช่คำตอบอีกเช่นกัน

โลกปัจจุบันทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตต้อง Productive ชีวิตต้องมีเป้าหมาย เราต้องประสบความสำเร็จบางอย่าง ถึงจะมีความสุข แต่จริงๆ แล้ว คนที่จะมีความสุขได้อย่างแท้จริง คือคนที่สามารถใช้ชีวิตประจำวันแบบมีความสุขได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายชีวิตใดๆ เพราะต่อให้เขายังต้องอยู่ภายใต้คำสาปของ Sisyphus (ซึ่งเขาอยู่) แต่เขาก็มีความสุข

ถึงตรงนี้ทำให้ผมคิดถึงวรรณกรรมเรื่องสิทธารถะ ตอนอายุ 20 สิทธารถะไฟแรง ออกไปท่องโลก แต่ในวัย 40 เขาเลือกที่จะเป็นแค่คนขับเรือจ้าง รับส่งคนข้ามฝั่งกลับไปกลับมาเหมือนเดิมทุกวัน ชีวิตที่ต้องไขว่คว้าความสำเร็จ สุดท้ายแล้วก็ต้องแสวงหาใหม่ไปเรื่อยๆ แต่ชีวิตที่สามารถมีความสุขได้กับชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องมีเป้าหมายอะไร คือชีวิตเป็นเป็นอิสระมากกว่า

เป้าหมายชีวิตทั้งหลาย เอาเข้าจริงๆ ก็ไร้ความหมายทั้งหมด เพราะสุดท้ายแล้ว เราทุกคนก็จะถูกลืมไปในที่สุด ไม่รู้จะไขว่คว้าหาการยอมรับจากคนอื่นไปเพื่ออะไร ฝึกมองเห็นความสวยงามของชีวิตประจำวันที่ซ้ำซากจำเจแล้วมีความสุขกับมันให้ได้จะดีกว่า

สวัสดีชาวโลก – -‘

ยินดีต้อนรับสู่ WordPress นี่คือเรื่องแรกของคุณ แก้ไขหรือลบทิ้งไป แล้วมาเริ่มเขียนกัน!

Originally posted 2022-03-06 22:35:07.