แผนการกินสำหรับปี 2024 (อีกแล้ว)

ปีหน้าก็คงจะทำ OMAD ทุกวันพฤหัสต่อไป เพราะถ้าไม่ทำคงควบคุมน้ำหนักไว้ไม่ได้ (เจอบุฟเฟ่ต์บ่อย)​

ส่วนวันอื่นๆ นั้น มื้อเช้า คือ โยเกิร์ต ถั่ว เบอรรี่ ไข่ลวก (ขอกลับมากินโยเกิร์ตอีกครั้ง ยอมแพ้เป้าหมายลดโลกร้อนไปก่อน)

มื้อกลางวันและเย็นต้องกินนอกบ้านเป็นหลัก เนื่องจากเหตุผลเรื่องความสะดวก ถ้าจะทำกินเอง จะเปลี่ยนมาทำแค่อาหารจำพวกสุกี้ (ชาบู นาเบะ ผัดหมาล่า) และสลัดต่างๆ เท่านั้น หรือไม่ก็มีแค่ผลไม้ติดตู้เย็นไว้ เช่น แอ็ปเปิ้ล กิมจิ อะโวกาโด เท่านั้น ถ้าจะทำอาหารคาวกินอย่างอื่นกินเอง คงต้องเป็นโอกาสพิเศษที่อยากลองทำจริงๆ เท่านั้น เพราะที่ผ่านมาพบว่าไม่มีเวลากินอาหารที่ตัวเองทำ ทำให้ยิ่งทำยิ่งอ้วน เพราะต้องกินให้หมด

ร้านประจำนอกบ้านจะเป็นร้านที่อยู่ทางผ่านเวลาเดินทาง อร่อย และราคาย่อมเยา เป็นหลัก อาทิ ร้านราดหน้าและส้มตำแถวคอนโด, ร้านอินเตอร์สยาม , หอยทอดชาวเล, บะหมี่สว่าง, ข้าวหมูแดงธานี, ข้าวมันไก่โกตา, Eat Am Are หรือไม่ก็ Yakiniku Like

น่าจะเป็นแผนที่มินิมัล และ Productive ที่สุดแล้ว

รูเบนแซนวิช

ส่วนประกอบ

  • ขนมปังแผ่นแบบใดก็ได้ที่ชอบ 2 แผ่น
  • พาสตามี่แล่บางที่สุด 3-4 แผ่น
  • เชลด้าชีสแผ่น 2 แผ่น
  • ผักดองซาวด์เคราวน์ 1/4 ถ้วย
  • มัสตาส จำนวนหนึ่ง
  • เนยเค็ม จำนวนหนึ่ง

วิธีทำ

  1. นำขนมปังแผ่นมาทาเนยเค็มหนึ่งด้านทั้งสองแผ่น ควรใช้เนยเยอะสักนิดจะดูน่ารับประทาน
  2. วางพาสตามี่ลงบนขนมปังแผ่นหนึ่ง จากนั้นตามด้วยเชลด้สชีสเรียงหน้า
  3. นำทั้งหมดไปอบในเตาเอาหรือเตาปิ้งขนมปัง จนขนมปังกรอบสวย ชีสยืด
  4. นำออกจากเตา แล้วเรียงหน้าด้วยผักดองบนชีอีกที (ดูวิธีทำผักดอง)  เติมมัสตาสตามใจชอบ ประกบแผ่นขนมปัง แล้วนำไปเสิร์ฟได้เลย

หมายเหตุ

ที่จริงแล้วถ้าเอาขนมปังไปทอดในกระทะเทฟรอน จะได้ผิวหน้าที่มีรอยเกรียมๆ เล็กน้อย ดูน่ารับประทานกว่าการปิ้ง และถ่ายรูปลงไอจีก็จะสวยกว่า แต่ข้อเสียคือยุ่งยากกว่า และจะทำให้ชีสยืดด้วย ก็จะทำยากกว่าในกระทะ ดังนั้น เพื่อความสะดวกในฐานะของอาหารเช้ากินง่ายๆ ผมเลยเลือกใช้เตาอบมากกว่า

กะหล่ำปลีดอง (ซาวด์เคลาน์)

ผักดองที่ทำง่ายที่สุดไม่มีอะไรเกิน Sauerkraut เพราะใช้แค่ผักกับเกลือแค่นั้นเลยจริงๆ มันคือวิธีกำจัดกะหล่ำปลีที่กินเหลือที่สุดยอดมากๆ รสชาติของการหมักทำให้มันอร่อย

เร่ิมต้นด้วยการชั่งน้ำหนักกระหล่ำปลีที่เหลือในตู้เย็น จากนั้นล้างทำความสะอาดให้มากที่สุด ก่อนที่จะซอยให้เป็นเส้นบางๆ ปั่นให้แห้ง แล้วเติมเกลือให้ได้ประมาณ 2% ของนำ้หนักของผัก คลุกให้ทั่ว รอทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที จะพบว่ามีน้ำออกมาจากผัก

ลำเลียงผักลงในขวดโหลที่ทำความสะอาดมาดีแล้ว ใช้ช้อนกดผักให้แน่นๆ ซึ่งจะทำให้มีน้ำออกมาจากผักมากขึ้นด้วย ค่อยๆ กดลงไปเรื่อยๆ จนเต็มขวดโหล ให้แน่ใจว่าผักทั้งหมดควรจะจมอยู่ใต้น้ำ จากนั้นปิดฝาขวดแบบหลวมๆ ตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง ที่ไม่โดนแสงแดดโดยตรง และไม่ร้อนจนเกินไป (ดีที่สุดคือราว 15-20 องศาเซลเซียสแบบในยุโรป)

รอผ่านไปอีก 2-3 วัน แล้วลองตรวจดูว่าทุกอย่างยังดูสะอาดอยู่ ไม่มีสิ่งแปลกปลอมเกิดขึ้น แค่ผักมีสีเข้มขึ้นเท่านั้น ลองชิมรสชาติว่าปกติดีหรือไม่ กดผักให้จมน้ำลงไปใหม่แล้วปิดฝา ที่จริงตอนนี้ก็สามารถเอามากินได้แล้ว แต่ถ้าหมักต่อไปอีกจะอร่อยยิ่งขึ้น สามารถเปลี่ยนมาหมักไว้ในตู้เย็นต่อได้ (แต่กระบวนการจะช้าลง)​ ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการกินคือ 1 เดือน

กระบวนการหมักเกิดจากจุลินทรีย์แลกโตบาซีรัส ซึ่งมีอยู่แล้วในธรรมชาติ ทำให้ผักมีรสเปรี้ยวเพราะเกิดกรดแลกติกขึ้นในน้ำผัก สภาพที่เป็นกรดทำให้ผักสามารถอยู่ได้นาน เป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง และยังทำให้ได้รสชาติที่อร่อยอีกด้วย