เที่ยวสงขลา-หาดใหญ่แบบไม่มีรถส่วนตัว

ขอเล่าประสบการณ์การไปเที่ยวสงขลา+หาดใหญ่ ช่วงหลังโควิดจบใหม่ๆ แบบไม่มีรถส่วนตัวให้ฟังหน่อย

หาดใหญ่กับตัวเมืองสงขลาอยู่ใกล้กันมาก ถ้าขับรถก็ใช้เวลาแค่ 35 นาทีเท่านั้น ก็เลยเป็นอะไรที่นิยมไปเที่ยวคู่กัน ซึ่งข้าพเจ้าก็เป็นมนุษย์ low carbon ไม่ขับรถส่วนตัวอยู่แล้ว ก็เลยวางแผนว่าจะไปเที่ยวสองเมืองนี้ แบบเช่ารถส่วนตัวขับ แต่พยายามใช้ขนส่งสาธารณะเอา

บอกเลยว่า เป็นอะไรที่ไม่เวิร์ค วิธีการที่ดีที่สุดที่จะเที่ยวสองเมืองนี้คือการเช่ารถขับทันทีที่เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ เพราะขนส่งสาธารณะมีจริง แต่ไม่เวิร์คในทางปฏิบัติ อย่างน้อยก็ ณ ช่วงที่ผมเดินทางไป

เริ่มจากประการแรกเลย พอไปถึงสนามบิน ผมก็คิดว่าจะนั่งมินิบัสจากสนามบินเข้าตัวเมือง ซึ่งมี และราคาไม่แพง แต่ปัญหาก็คือว่า รถออกไม่บ่อย ผมต้องรออีกหนึ่งชั่วโมงกว่ารถจะออก คิดแล้วไม่คุ้มค่าเวลาที่เสียไป ก็เลยตัดสินใจเรียกแท็กซี่แทน ซึ่งมีทั้งแบบแท็กซี่ลีมูซีน และแท็กซี่มิเตอร์ ซึ่งแบบหลังจะถูกกว่านิดหน่อย คิดตามระยะทาง แต่มีบวกเพิ่ม 50 บาท คล้ายๆ กับสนามบินทุกแห่งในประเทศไทย สรุปแล้ว เข้าเมืองหาดใหญ่ ผมจ่ายค่าแท็กซี่มิเตอร์ไป 190 บาท

ในตัวเมืองหาดใหญ่นั้นมีขนส่งสาธารณะให้เลือกหลายรูปแบบ ตั้งแต่รถสองแถวซึ่งวิ่งตามเส้นทางประจำ รถตุ๊กตุ๊กซึ่งคิดราคา 20 บาทต่อเที่ยวต่อคน ไปไหนก็ได้ (แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยว อาจจะคิดแพงกว่านั้น)​ รถแท็กซี่เหมาซึ่งต้องโทรเรียกเท่านั้น ยังมีรถ Grab ด้วย ซึ่งส่วนตัวคิดว่า Grab เวิร์กที่สุด เพราะไม่แพง (ถ้าเทียบกับแท็กซี่) และมีเยอะ แต่นั่นก็คือเส้นทางเฉพาะในตัวเมืองหาดใหญ่เท่านั้น ถ้าหากออกไปนอกเมือง Grab จะหายาก และตัวเลือกอื่นนี่ไม่ต้องพูดถึง เพราะแพงมาก

พอมาถึงตัวเมืองหาดใหญ่ ผมก็พักกินข้าว แล้วก็คิดจะเดินทางต่อไปยังสงขลา เพราะว่าโรงแรมอยู่สงขลา ตอนแรกนึกว่ามีคิดรถสองแถวอยู่ที่ขนส่ง เพราะศึกษาจากเน็ตมาว่าเป็นแบบนั้น แต่ไปถึงจริงๆ ไม่มี มีแต่รถตุ๊กๆ เหมา ราคาโขกสับมาก ผมจ่ายไป 400 บาท เพราะความไม่รู้ ซึ่งจริงๆ ถ้าผมพยายามกดเรียก Grab ให้ได้ อาจจะใช้เวลานานสักหน่อย แต่น่าจะถูกกว่านี้เยอะเลย

โรงแรมที่ผมพักอยู่สงขลา แต่ว่าเป็นนอกเมืองสงขลา ซึ่งกลายเป็นปัญหา เพราะการเรียกแท็กซี่หรือ Grab จากโรงแรม เป็นอะไรที่ยากมาก เพราะคนขับจะต้องขับรถมาจากหาดใหญ่ เพื่อมารับ ทำให้เขาคิดแพง หรือไม่ก็ไม่อยากมารับ ถ้าจะใช้บริการรถของโรงแรมก็มี แต่ยิ่งแพง เขาคิดตั้ง 800 บาท ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม กลายเป็นว่าทุกเช้าต้องมานั่งลุ้นว่าวันนี้จะเรียก Grab ได้สำเร็จมั้ย

สรุปแล้วโลกนี้ก็ยังไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนที่ Low Carbon อยู่

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองสงขลา หลักๆ เลยก็คือย่านเมืองเก่า มีตึกรูปร่างโบราณ และสตรีทอาร์ทให้ถ่ายรูป ซึ่งกินพื้นที่ 3 ถนน ได้แก่ ถนนนางงาม ถนนนครใน และถนนนครนอก รวมทั้งยังมีร้านอาหารอร่อยๆ ให้กินหลายร้านเลย ถัดออกจากเมืองเก่าไปจะเป็นที่อยู่ของหาดสมิหา มีรูปปั้นนางเงือก เกาะหนู เกาะแมว มีถนนคนเดิน (เปิดวันศุกร์และเสาร์) ส่วนถ้าออกจากเมืองสงขลาไปเลย ก็มีมัสยิดกลาง ให้แวะชักภาพกัน และที่พลาดไม่ได้เลย คือ เกาะยอ ซึ่งเป็นเกาะในทะเลสาบสงขลา อยู่ใกล้เมืองสงขลามาก สามารถข้ามไปได้ด้วยสะพานติณสูลานนท์ ที่นั่นจะมีร้านอาหารแนวซีฟู้ดให้ได้สวาปามกัน

ร้านมหัศจรรย์เกาะยอ

สมัยก่อนคนมาเมืองหาดใหญ่เพื่อซื้อของที่ตลาดกิมหยงกัน แต่ปัจจุบันนี้สินค้าหลายอย่างมีขายที่กรุงเทพแล้ว นอกจากร้านอาหารซึ่งมีกระจายอยู่เต็มหาดใหญ่แล้ว สถานที่ท่องเที่ยวเดียวที่ไปกันก็น่าจะเป็นเขาคอหงส์ ซึ่งมี Cable Car ให้ขึ้นชมวิว

 

ไข่กระทะ

ไข่กระทะเป็นอาหารเช้าที่นิยมมากในภาคอิสาน น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากเวียดนาม

เวลาทำไข่กระทะ ผมมีกระทะเล็กหล่อขนาดเล็กไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ กระทะเหล็กหล่อมีข้อดีคือไม่ติดกระทะ และผมเลือกขนาดที่พอดีกับการทำไข่กระทะโดยเฉพาะเลย

เริ่มต้นด้วยการตั้งกระทะให้ร้อน ใส่น้ำมันเล็กน้อย ตามด้วยกุนเชียง เบคอน หมูยอ หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วคั่วบนกระทะสักพักให้กรอบน่ารับประทาน ตักขึ้นพักไว้ จากนั้นใช้กระทะเดิม ตอกไข่ลงไปสองฟอง เพื่อทำเป็นไข่ดาว เมื่อเริ่มจะสุกก็ให้โรยหน้าด้วยกุนเชียงที่ทำไว้แล้วก่อนหน้านี้ ยกเสิร์ฟ ปรุงรสด้วยพริกไทย และซอสแม็กกี้

ข้าวแมว

เมนูนี้เป็นเมนูที่ทำเมื่อรู้สึกอยากกินพริกขี้หนูมากๆ เป็นเมนูที่ทำง่ายมาก

ตั้งกระทะให้ร้อน ใส่กระเทียมและพริกขี้หนูลงไปคั่ว จนสุก แล้วใส่ปลาทูแกะลงไปทอด เอาน้ำมันส่วนเกินออก ใส่ข้าวสวยตามลงไป ผัดต่อ ปรุงรสด้วยน้ำปลา ตักใส่จาน แต่งด้วยมะนาว และผักชี กินคู่กับพริกน้ำปลา

น้ำสต็อก

เรื่องที่ท้าทายมือใหม่ทำอาหารกินเองคือการทำน้ำสต็อกเอง เพราะดูเป็นอะไรที่ยุ่งยาก เสียเวลานาน สุดท้ายแล้วต้องหันไปพึ่งผงนำ้ซุปสำเร็จรูปแทน

แต่เอาจริงๆ น้ำสต็อกธรรมชาติมีรสชาติที่ดีกว่า น่าเบื่อน้อยกว่าถ้าต้องกินบ่อยๆ และมันก็ไม่ได้ถึงกับทำยากมากขนาดนั้น เราสามารถทำให้ประหยัดเวลาได้มากขึ้นด้วยการทำเอาไว้เยอะๆ แล้วแช่แข็งไว้ สามารถเก็บไว้ใช้อีกได้นานนับเดือน ถึงเวลาจะใช้ก็แค่เอาออกมาไมโครเวฟ

การต้มน้ำสต็อกนั้น ยิ่งนานยิ่งดี อย่างเช่น 90 นาที ดูเป็นเวลาที่เหมาะสม แต่ถ้าหากรู้สึกว่าเสียเวลาเกินไป ก็อาจหาซื้อหม้อความดันมาใช้ทำน้ำสต็อกโดยเฉพาะ ซึ่งจะลดเวลาลงได้ครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว แถมหม้อความดันยังเอามาทำอาหารอย่างอื่นได้อีก เช่น อาหารประเภทตุ๋นต่างๆ

สำหรับน้ำสต็อกสไตล์ฝรั่งนั้น ใช้หอมใหญ่ ต่อ แครอท ต่อ celery ในอัตราส่วน 2:1:1 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วของพวกนี้มักจะใช้เหลือจากการทำอาหารอย่างอื่น ก็เป็นการเอาของเหลือมาใช้อีกทางหนึ่งด้วย อาจใส่พวกเครื่องเทศต่างๆ ลงไปด้วย เช่น ใบไทม์ โรสแมรี ใบกระวาน เป็นต้น ต้องใส่เกลือลงไปด้วย เพื่อให้เกลือดึงรสชาติของส่วนผสมออกมาในน้ำ ตุ๋นประมาณ 90 นาที ก็จะได้ น้ำสต็อกผักสไตล์ฝรั่งแล้ว

ถ้าต้องการทำให้เป็นสต็อกเนื้อสัตว์ก็แค่เพิ่ม กระดูกหมู หรือโครงไก่เข้าไป อย่าลืมลวก และล้างให้สะอาดก่อน และต้องกรองในขั้นตอนสุดท้าย เพื่อให้น้ำใสด้วย

ส่วนถ้าเป็นน้ำสต็อกสไตล์เอเชีย ก็แค่เปลี่ยนส่วนผสมของพืชให้เป็นแนวเอเชีย เช่น กระเทียมบุบ รากผักชี เม็ดพริกไทย เม็ดผักชี หรืออาจใส่พวก ไช้เท้า เข้าไปด้วยก็ยังได้

 

ราเม็งผัก – Veggie Shoi Ramen

ที่จริงแล้ว ราเม็งอาจไม่ใช่อาหารที่เหมาะจะทำกินที่บ้านเท่าไหร่ เพราะกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน อย่างน้ำซุปที่ตุ๋นกัน 8-20 ชั่วโมง หรือชาชูที่มีวิธีการทำที่ค่อนข้างจะยุ่งยาก เป็นต้น ซื้อกินเอาดีกว่าเยอะ แต่ถ้าเป็นราเม็งแบบง่ายๆ ใส่แต่ผัก ก็อาจเป็นข้อยกเว้น น้ำซุปก็เช่นกัน ถ้าเป็นพวก tonkotsu (ซุปกระดูก) อันนี้ซื้อกินเอาเหอะ แต่ถ้าเป็น Shio (ซุปเกลือ) หรือ Shoyu (ซุปซีอิ้ว) ก็ไม่เหนือบ่ากว่าแรงที่จะทำกินเอง

เส้นราเม็งเป็นอะไรที่หาซื้อยากเหมือนกันตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนใหญ่เราจะเจอเส้นโซบะ โชเม็ง หรืออูด้งมากกว่า หรือไม่งั้นก็เป็นพวกบะหมี่ไข่ ซึ่งใช้ทำบะหมี่แบบจีนมากกว่า แต่เส้นราเม็งที่เป็นเส้นสดก็พอจะหาซื้อได้เหมือนกัน อย่างที่เห็นบ่อยๆ คือที่ Max Value จะเขียนว่าเป็นเส้นราเม็งเลย ส่วนราเม็งเส้นสดจริงๆ นั้น ต้องตีด้วยมือ ซื้อกินเอาเหอะเช่นกัน

ถ้าเราไม่ใส่ชาชู ก็อาจจะใส่เป็นหมูสับก็ได้ แต่ในกรณีของผม ผมเลือกที่จะตัดเนื้อสัตว์ออกไปเลย ใส่แต่ผัก ซึ่งมีให้เลือกใส่ได้เยอะ ตั้งแต่ ผักบอกชอย หน่อไม้ญี่ปุ่นต้มสุก เห็ดหูหนูซอย เห็ดหอม ถั่วงอก หรือต้นหอมซอยก็ได้ รวมทั้งอาจใส่ไข่ต้มเป็นโปรตีนเสริมก็ได้อีก แค่นี้ก็เยอะแล้ว เนื้อสัตว์เลยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่มังสาวิรัติ เพราะน้ำซุปยังทำจากสัตว์อยู่

ซุปเกลือเริ่มต้นด้วยการต้มน้ำให้เดือดช้าๆ โดยอาจใส่สาหร่ายคอมบุลงไปด้วย เมื่อน้ำเริ่มจะเดือดก็ให้เอาสาหร่ายคอมบุออก แล้วใส่ผงปลาโอลงไปแทน ต้มต่อไปประมาณ 5 -10 นาที ใส่มิริน เกลือ โชยุ น้ำแช่เห็ดหอม หรือถ้ายังรู้สึกไม่เข้มข้นพอ ใส่ซุปไก่ลงไปด้วย

อีกสิ่งที่ต้องเตรียมคือน้ำมันเจียวหอม ทำแบบเดียวกับกระเทียมเจียว แต่อาจใช้อย่างอื่นนอกจากกระเทียมด้วยก็ได้ เช่น หอมแดง และส่วนสีขาวของต้นหอมด้วย

ประกอบส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน ตั้งแต่เส้นราเม็งที่ลวกเสร็จแล้ว ผักที่ชอบ ไข่ต้ม สาหร่ายสักหนึ่งแผ่น แล้วราดด้วยซุปเกลือ และน้ำมันเจียวหอม

ส่วนผสมของซุปเกลือ

  • น้ำ 2 ถ้วย
  • มิริน 1 ช้อนโต๊ะ
  • โชยุ 1 ช้อนชา
  • เกลือ 1/2 ช้อนโต๊ะ
  • ซุปไก่ 1-2 ถ้วย
  • สาหร่ายคอมบุ 1 แผ่น
  • ผงปลาโอจำนวนหนึ่ง

ส่วนผสมของราเม็ง

  • เส้นราเม็ง 1 ก้อน
  • ไข่ต้ม 1 ฟอง
  • บอกชอยลวกและหั่นแล้ว
  • หน่อไม้ต้มสุก (ซื้อสำเร็จ)
  • น้ำมัน และกระเทียม สำหรับทำน้ำมันเจียวหอม

 

เกี๊ยวซ่าทอดสไตล์จีน

เกี๊ยวซ่า เป็นของทอดที่ผมสนใจ เพราะมันมีแป้งเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่คือไส้ที่ใช้เนื้อสัตว์กับผักผสมกันเป็นหลัก ทำให้มันมีสัดส่วนของสารอาหารที่ผมอยากได้ พูดง่ายๆ ก็คือ โลว์คาร์บ หรือแม้แต่จะทำให้เป็นมังสวิรัติก็ได้ โดยใช้ผักเป็นไส้อย่างเดียว และการที่มันเป็นอาหารที่ทอดด้วย ช่วยทำให้เป็นเมนูที่ไม่น่าเบื่อ

เสน่ห์ของเกี๊ยวซ่าทอดสไตล์จีน (หรือไต้หวันก็ไม่แน่ใจ) คือแผ่นแป้งบางๆ ที่เชื่อมเกี๊ยวทุกชิ้นเข้าด้วยกัน ช่วยเพิ่มผิวสัมผัสของความกรอบ น่ารับประทาน บวกกับนำ้จิ้มที่มีพริกจัดจ้านอยู่ด้วย ทำให้เป็นอาหารที่อร่อย

ผมซื้อแผ่นแป้งเกี๊ยวซ่าสำเร็จมา ซึ่งแตกต่างจากแป้งเกี๊ยวแบบ wonton เพราะจะต้องเป็นรูปวงกลมแทนที่จะเป็นสี่เหลี่ยม อาจจะหาซื้อยากนิดหนึ่ง แต่มีขายครับ

ไส้ที่ผมเลือกใช้คือเนื้อหมูบดกับกระหล่ำปลีบด ในสัดส่วน 1:1 คลุกให้เข้ากัน ปรุงรสด้วย ซีอิ้ว น้ำมันงา แป้งข้าวโพด เหล้าจีน ขิงบดเล็กน้อย อาจใส่ผักอย่างอื่นเช่น ต้นหอม กุ๋ยช่ายลงไปด้วยก็ได้ เรียกได้ว่า ถ้ามีผักอะไรเหลืออยู่ในตู้เย็น เมนูนี้จะช่วยกำจัดมันได้อย่างดี

เวลาห่อเกี๊ยว จะใช้น้ำเปล่าลูปที่ขอบทั้งหมดของแผ่นแป้ง เพื่อให้เกิดความเหนียวเป็นเหมือนกาว ใช้ช้อนตักไส้ลงไปตรงกลางประมาณหนึ่งช้อน แล้วใช้นิ้วจีบแป้งเข้าหากันเพื่อผนึกไส้ ตอนทำใหม่ๆ ก็อาจจะเละบ้าง แต่ได้ทำซ้ำๆ สักพัก ก็จะดูสวยขึ้นได้ไม่ยากครับ ห่อเสร็จแล้วจะเก็บไว้กินในช่องแข็งก็ได้ ส่วนใหญ่ผมจะทำทีละมากๆ เพราะจะได้ทำทีเดียว แช่แข็งไว้กินระยะยาว

เพื่อให้ไส้เกี๊ยวสุกแน่นอน ผมจะใช้วิธีนึ่งให้สุกเลยก่อนจะนำไปทอด สาเหตุที่นึ่งแทนที่จะใช้ไมโครเวฟ เป็นเพราะไมโครเวฟจะทำให้เกี๊ยวพองเพราะอากาศที่อยู่ภายในร้อนแต่ออกมาไม่ได้ เมื่อนำไปทอดเราจะทอดแค่เพียงเล็กน้อยให้ดูน่ากินก็พอ ถ้าต้องทอดนานเพื่อในแน่ใจว่าไส้สุก เกี๊ยวอาจจะไหม้ก่อน ดูไม่น่ารับประทาน

ก่อนจะลงมือทอดให้เตรียมน้ำแป้ง โดยเอาแป้งสาลีอเนกประสงค์ 2 ช้อนชา ผสมกับน้ำเปล่า 10 ช้อนชา คนให้เข้ากัน แค่นั้นเลย อันนี้ใช้สำหรับเกี๊ยวประมาณ 6-7 ตัว ถ้ามากกว่านั้นก็เพิ่มไปตามสัดส่วนครับ

ในการทอดต้องเลือกใช้กระทะแบบ non-stick ทอดด้วยไฟกลางถึงสูง โดยอาจกลับไปมา เพื่อให้ผิวทุกด้านของเกี๊ยวดูน่ารับประทาน แล้วจบด้วยการเรียงเกี๊ยวทุกอันแบบคว่ำหน้า ก่อนที่จะใส่น้ำแป้งลงไปในกระทะโดยแนะนำให้ตักทีละช้อน ราดลงทางด้านข้างกระทะ เพื่อให้น้ำแป้งไหลลงไปยังก้นกระทะ ทำไปเรื่อยๆ จนพื้นน้ำแป้งกินพื้นที่ขึ้นมาครอบคลุมเกี๊ยวทั้งหมด รอต่อไปเพื่อให้น้ำแป้งดูกรอบขึ้นจนทั้งถึง ก็ปิดไฟ ยกลงเสิร์ฟเลย

กินคู่กับน้ำจิ้มที่ใช้ส่วนผสมของ พริกน้ำมัน : น้ำส้มสายชู : ซีอิ้ว ในสัดส่วน 1:2:1

 

ส่วนผสมน้ำจิ้ม (สำหรับ 1 จาน)

  • พริกน้ำมัน 1 ช้อนโต๊ะ
  • ซี้อิ้วญี่ปุ่น 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำส้มสายชูข้าว 2 ช้อนโต๊ะ

 

 

สูตรหมักเนื้อสัตว์

เรื่องหนึ่งที่ต้องรู้สำหรับคนทำอาหารกินเองคือเราจะหมักเนื้อสัตว์อย่างไรดี

ทฤษฎีบอกว่า สิ่งที่ใช้หมักเนื้อสัตว์มี 3 อย่าง หนึ่งคือไขมัน สองคือกรด และสามคือเครื่องเทศ เพราะเมื่อเนื้อสัตว์เจอไขมันและอยู่ในสภาพที่เป็นกรด จะทำให้เนื้อนุ่มขึ้น ส่วนเครื่องเทศนั้นช่วยเพิ่มความหอม ดังนั้น สูตรหมักเนื้อสัตว์จะเป็นอะไรก็ได้ ขอให้ครบทั้งสามองค์ประกอบนี้

สำหรับไขมัน ผมมักจะใช้น้ำมันมะกอกแบบ extra virgin เพราะดีต่อสุขภาพ ส่วนกรดนั้น ถ้าใช้พวกน้ำมะนาวหรือนำ้ส้มสายชูจะทำให้เนื้อสัตว์มีรสเปรี้ยว ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ โดยมากผมจะใช้เหล้าจีน หรือไม่ก็สาเกแทน เพราะจะทำให้สภาพเป็นกรดได้เหมือนกัน

ส่วนเครื่องเทศนั้นก็แล้วแต่ว่าเราจะปรุงอาหารสไตล์ไหน ถ้าเป็นอาหารไทยก็ใช้สามเกลอ (กระเทียม พริกไทย รากผักชี) ถ้าเป็นอาหารฝรั่งก็ใช้ใบไทม์ หรือโรสแมรี่ ส่วนถ้าเป็นอาหารจีนญี่ปุ่น ก็ใช้ซีอิ้ว อาจเติมเกลือนิดหน่อยเพื่อช่วยดึงรสชาติ

โดยมากแล้ว การหมักเนื้อสัตว์จะไม่นิยมให้เค็มมาก เพราะเวลาเอาไปปรุงอาหาร เราก็ต้องไปเติมเค็มอีก เดี๋ยวจะเค็มไปใหญ่

ส่วนระยะเวลาหมักนั้น ถ้าเป็นเนื้อไก่ก็สัก 2 ชม ถ้าเป็นหมูหรือวัวก็อาจจะข้ามคืนได้เลย แต่ถ้าไม่มีเวลา อย่างน้อยได้หมักสัก 15 นาทีก็ยังดีกว่าไม่ได้หมักเลย

ถ้าเป็นสเต็กเนื้อวัว ผมไม่นิยมหมักก่อน เพราะอยากได้รสชาติของเนื้อวัวแท้ๆ มากกว่ารสชาติของเครื่องปรุง ส่วนใหญ่จะหมักตอนเอาออกมาละลายน้ำแข็งเท่านั้น ด้วยเกลือ พริกไทย และโรสแมรี่

ข้าวผัดสไตล์มินิมัล – Minimalism

ข้าวผัดเป็นอาหารที่มีอยู่ในแทบจะทุกชาติ แต่มีหน้าตาที่แตกต่างกันไปตามแต่วัตถุดิบของท้องถิ่นนั้นๆ หนึ่งในสไตล์ที่ผมสนใจที่สุดแบบหนึ่งคือข้าวผัดสไตล์จีน เพราะชอบในความเรียบง่ายของมัน มีส่วนผสมน้อยมาก แต่อาศัยวิธีการผัด ที่ทำให้มันมีความพิเศษขึ้นมา เป็นเมนูเร่งด่วนที่อิ่มท้องและไม่ต้องเตรียมวัตถุดิบล่วงหน้า

ข้าวที่ใช้ทำข้าวผัดควรเป็นข้าวเก่า ไม่ใช่หมายถึงข้าวสารที่เก่าแล้ว แต่หมายถึงข้าวที่หุงไว้นานแล้ว เช่น เมื่อวานเย็น แช่ตู้เย็นทิ้งไว้ให้แข็งขึ้นอีก เพราะข้าวที่แห้งแข็งจะผัดข้าวผัดได้อร่อยกว่าข้าวที่ชื้นและนุ่ม ยิ่งโดนกระทะที่ร้อนมากๆ จนข้าวกระเด็น ไข่กระโดด ยิ่งน่ากิน

เวลาทำข้าวผัด เรานิยมเอาส่วนผสมหลักแต่ละอย่างมาผัดต่างหากก่อน แล้วค่อยนำมาผัดรวมกับข้าวทีหลัง เพราะจะทำให้ส่วนผสมเหล่านั้นสุกแน่นอน สม่ำเสมอ และทำให้อร่อยกว่าด้วย ดังนั้นในเมนูนี้ ผมผัดไข่ต่างหากก่อน โดยตีไข่แบบไม่ต้องฟู เอาแค่ไข่ขาวกับไข่แดงพอจะรวมกันบ้างก็พอแล้ว ตั้งไฟใส่นำ้มันพืชแค่ให้เคลือบกระทะทั้งหมดก็พอ ใส่ไข่ที่กวนแล้วลงไป แล้วใช้ตะหลิวเขี่ยให้ไข่สุกให้ทั่วๆ ตักขึ้นพักไว้ก่อน

ตอนนี้ถ้าใครจะใส่เนื้อสัตว์อย่างอื่นด้วย ก็ให้นำเนื้อสัตว์ที่หั่นแล้วเหล่านั้นมาทอดในน้ำมันต่อ เช่น กุนเชียง หรือหมูสับก็ได้ แต่สำหรับเมนูนี้จะไม่ใส่เนื้อสัตว์ใดๆ เพราะเรามีโปรตีนจากไข่อยู่แล้ว  ปกติแล้วข้าวผัดสไตล์จีนจะใส่ถั่วลันเตา แต่ผมเปลี่ยนมาใช้ต้นหอยซอยแทน

ในการปรุงรสข้าวผัด จะใช้เกลือเป็นหลัก ใส่ซอสอย่างอื่นก็แค่เล็กน้อยเท่านั้น เพราะถ้าใส่ซอสมากเกินไป ข้าวผัดจะมีสีเข้ม ดูไม่น่ารับประทานเท่าไหร่ (สำหรับข้าวผัดสไตล์นี้)

ตั้งกระทะใหม่ ใช้ไฟกลาง น้ำมันพืชประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ใส่กระเทียมสับลงไปผัดจนเหลืองทอง ใส่ข้าวลงไป ผัดให้ทั่ว อาจต้องใช้ตะหลิวในการบี้ข้าวที่ติดเป็นก้อนให้ออกจากกันให้หมด ตอนนี้ถ้าใครใช้กระทะหลุม อาจใช้ไฟแรง แล้วอาศัยการควงกระทะเร็วๆ เพื่อระวังไม่ให้ข้าวไหม้ แต่สำหรับผม เป็นแค่เตาไฟฟ้าในคอนโด เลยทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องใช้ไฟกลางแทน ใส่เครื่องปรุงที่ตามไว้ทั้งหมดลงไป ผัดจนข้าวทั้งหมดมีสีเสมอกัน ใส่ต้นหอมซอยเป็นอย่างสุดท้ายก่อนยกขึ้นเสิร์ฟ

ส่วนผสมสำหรับ 1 ที่

  • ข้าวสุก 1 จาน
  • ไข่ไก่ 1 ฟอง
  • ต้นหอยซอย 1 ช้อนชา
  • กระเทียมสับ 1/2 ช้อนชา
  • น้ำมันหอย 1 ช้อนกินข้าว
  • เกลือ 1/3 ช้อนชา
  • น้ำมันงา 1/2 ช้อนชา
  • น้ำมันพืชสำหรับผัดไข่และข้าว
  • น้ำตาลและพริกไทยเล็กน้อย

 

น้ำสลัดงาซีอิ้วญี่ปุ่น

  • น้ำมันมะกอก 1 ส่วน
  • น้ำส้มสายชูข้าว 1 ส่วน
  • ซีอิ้วญึ่ปุ่น 1 ส่วน
  • น้ำผึ้ง 1/2 ส่วน
  • น้ำมันงา เล็กน้อย
  • งาขาว เล็กน้อย

ถ้าต้องการนำ้สลัดแบบข้น ก็แค่เติมมาโยญี่ปุ่นปริมาณเท่ากันลงไป แล้วคนอย่างแรง เพื่อให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากัน

กระเพราหมูสับไข่ดาว

เวลาพูดถึงอาหารไทย คนต่างชาติมักคิดถึงต้มยำกุ้ง หรือไม่ก็ผัดไทย แต่สำหรับผม ข้าวราดกระเพราไข่ดาวคือสิ่งแรกที่เข้ามาในสมอง มันเป็นอาหารสิ้นคิดที่คนไทยสั่งกินเยอะที่สุด ทุกวันน่าจะมีการทำเมนูนี้ไม่น้อยกว่าล้านจาน

ตั้งกระทะไฟกลาง รอให้น้ำมันร้อน ใส่กระเทียมสับลงไปคั่วสักพักให้เหลืองทอง ใส่พริกสับตามลงไป คั่วไม่นาน ตามด้วยหมูสับที่หมักด้วยเครื่องปรุงรสอ่อนๆ เตรียมไว้ ผัดให้หมูสุก ลดไฟลงเป็นอ่อน แล้วเติมน้ำซอสผัดกระเพราที่เตรียมไว้ลงไป คลุกให้ทั่วเนื้อหมู เยาะซีอิ้วดำ 3-4 หยด  เร่งไฟให้แรงขึ้น ใส่ใบกระเพราลงไป ผัดต่ออย่างน้อย 2-3 นาทีเพื่อให้ใบกระเพรานุ่มลง ตักราดลงบนข้าวสวยร้อนๆ

บนกระทะเดิมเติมน้ำมันปาล์มลงไปให้พอท่วมกระทะ เร่งไฟให้แรงสุด พอเริ่มมีควัน ตอกไข่ใส่ลงไป รอให้ไข่ขาวเริ่มเกรียมที่ขอบๆ และไข่ดาวสุกในระดับที่พอใจ ยกขึ้นราดบนข้าวกระเพราอีกที เยาะพริกไทย และซอสแม็กกี้ลงไป

อาจทำพริกน้ำปลากินคู่กันด้วยก็ได้ ถ้าชอบ

ถ้าเป็นไปได้ผมชอบหุงข้าวให้เสร็จก่อนค่อยเริ่มต้นผัดกระเพรา เพราะจะได้ตักข้าวลงบนจานรอไว้ก่อน พอผัดกระเพราเสร็จจะได้ราดลงบนข้าวได้ทันที เช่นเดียวกันกับสาเหตุที่ทอดไข่ดาวทีหลังผัดกระเพรา เพราะจะได้วางไข่ดาวไว้บนสุด ทั้งหมดนี้ช่วยประหยัดจานชามเวลาทำอาหารเฉยๆ

สูตรผัดกระเพราเป็นอะไรที่มีหลากหลายมาก แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนจริงๆ บางคนชอบแห้งๆ บางคนชอบน้ำคลุกคลิก เช่นเดียวกับไข่ดาว บางคนชอบเกรียม บางคนชอบไข่แดงไม่สุก ฯลฯ สูตรนี้เรียกได้ว่าเป็นสูตรส่วนตัวของผมเองจริงๆ ไม่มีผิดไม่มีถูก

ส่วนผสมสำหรับ 1 ที่

  • ข้าวสวย 1 จาน
  • ไข่ไก่ 1 ฟอง
  • หมูสับขนาดเท่าฝ่ามือ
  • ใบกระเพราะ 1 ช่อ
  • น้ำมันพืช 1-2 ช้อนโต๊ะ สำหรับผัด
  • นำ้มันพืช จำนวนหนึ่ง สำหรับทอดไข่
  • พริกขี้หนูสับ 1 ช้อนกินข้าว
  • กระเทียมสับ 1 ช้อนกินข้าว
  • ซอสกระเพราะ (ดูข้างล่าง)
  • ซีอิ้วดำ 3-4 หยด
  • พริกไทยขาว และซอสแม็กกี้สำหรับปรุงรส
  • พริกน้ำปลา (ถ้าต้องการ)

น้ำซอสกระเพรา สำหรับ 1 ที่

  • น้ำมันหอย 1 ช้อนกินข้าว
  • ซอสฝาเขียว 1 ช้อนกินข้าว
  • น้ำปลา ครึ่งช้อนกินข้าว
  • น้ำเปล่า 1 ช้อนกินข้าว
  • ผงปรุงรส 1/4 ช้อนกินข้าว