ร้านอัญญาเพลส ศาลายา,2022

Grilled Vegetables ผักย่าง

เวลาคิดถึงการกินผัก ความเบื่ออย่างหนึ่งก็คือ ผักส่วนใหญ่จะปรุงด้วยการต้ม แต่เราสามารถสร้างความน่ากินให้ผักของเราได้ด้วยการเปลี่ยนมากินผักย่างแทน (ไม่ทอดหรือผัก เพราะอาจจะไม่ดีต่อสุขภาพเท่าไหร่นัก) ที่สำคัญคือ อาหารย่างที่เป็นผักจะไม่พบสารก่อมะเร็งไม่ว่าจะย่างด้วยความร้อนสูงแค่ไหน ผักย่างก็เลยเป็นอะไรที่ค่อนข้างลงตัวสำหรับคนที่อยากกินอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ไม่น่าเบื่อ

ผักที่เหมาะกับการย่างมีมากมายหลายชนิด เช่น พริกหวาน ฟักทอง บัตเตอร์สคว็อท มันเทศ มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน ดอกกะหล่ำ บล็อคเคลี แครอท เบบี้แครอท เห็ด หัวหอม บีทรูท ถั่วแขก ถั่วลูกไก่ กระหล่ำดาว เป็นต้น พยายามหั่นให้ได้ความหนาพอๆ กัน จะได้สุกเท่าๆ กันทุกอย่าง

ผักย่างของผมมีการปรุงรสแค่เพียงนำ้มันมะกอกกับเกลือเท่านั้น เราใส่เกลือไม่ใช่เพื่อรสเค็ม แต่ใส่แค่ให้เกลือช่วยดึงรสชาติของผักเองออกมาให้มากที่สุดเท่านั้น หลังจากล้างผักให้สะอาด สะเด็ดน้ำให้แห้งแล้ว นำผักของเรามาคลุกกับน้ำมันมะกอกและเกลือในชามพักให้ทั่ว พยายามให้น้ำมันมะกอกเคลือบผิวของผักให้ทั่วที่สุด เพื่อให้ผักย่างไม่แห้งเกินไป นำไปเรียงในเตาอบ พยายามเกลี่ยให้ผักทับกันให้น้อยที่สุด สาเหตุที่ผมย่างผักด้วยเตาอบเป็นเพราะมันสะดวกกว่ามาก เคล็ดลับคือการใช้ความร้อนสูงสักนิดหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดูคล้ายกับการย่างบนเตามากที่สุด เช่น 220 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 30 นาที กลับข้างผักระหว่างทาง

Cold Soba -โซบะเย็น

โซบะเย็น เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ทำงาน วัตถุดิบทั้งหมดสามารถเก็บไว้ล่วงหน้าได้นาน และอยากคิดว่ามีแต่แป้งแล้วจะไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะเส้นโซบะทำจากบัควีท (แต่มีแป้งสาลีผสมด้วย) จึงเป็นธัญพืชที่ย่อยช้า

อุปกรณ์ที่ควรหาซื้อไว้ติดบ้านคือที่รองโซบะที่ทำด้วยไม้ไผ่ ซึ่งหาซื้อได้ตามแผนกเครื่องครัวของห้างญี่ปุ่น เลือกขนาดที่วางได้พอดีกับจานของเรา คือมีที่เหลือด้านล่าง เพื่อให้น้ำไหลลงไป จะช่วยให้เส้นโซบะของเราไม่เปียกน้ำเย็นเวลากิน

ในส่วนของ dipping sauce ใช้น้ำเปล่า : โชยุ : มิริน ในอัตรา 2:1:1 ใส่ผงปลาโอแห้งลงไป 1 ซอง ต้มประมาณ 10-15 นาที นำไปแช่ตู้เย็นให้เย็นจัด (ถ้าเป็นไปได้ ควรทำเตรียมไว้ตั้งแต่เมื่อคืน แล้วแช่ทิ้งไว้ในตู้เย็น)

ต้มเส้นโซบะในน้ำเดือด จำนวนนาทีตามที่ระบุไว้ในซอง เสร็จแล้วนำไปจุ่มลงในน้ำเย็นจัดที่ใส่น้ำแข็ง จากนั้นยกขึ้นพักไว้ เสิร์ฟกับต้นหอมซอย วาซาบิ และ dipping sauce โรยหน้าด้วยสาหร่ายแห้งซอย

การกินโซบะเย็น เราจะคีบเส้นลงไปจุ่มในซอสแค่ 1/3 เท่านั้น แล้วนำเข้าปากเลย หลังจากกินเสร็จแล้ว บางคนจะเอาซอสที่เหลือมาใส่น้ำซุปร้อนๆ ลงไป แล้วซดให้หมดอีกที จะได้ไม่เปลือง แต่ส่วนตัวคิดว่า โซเดียมที่รับประทานเข้าไปจนหมด อาจจะเยอะไปหน่อย คนที่มีปัญหาสุขภาพก็ระมัดระวัง

Pasta Carbonara

ซอสคาโบนาล่าของคนอิตาเลียนไม่ใส่ครีม แต่ทำจากไข่และพาเมซานชีสล้วนๆ ปรุงด้วยเกลือเล็กน้อย โดยใช้ไข่หนึ่งฟองบวกไข่แดงหนึ่งใบสำหรับหนึ่งที่ บดพาเมซานชีสตามลงไป (เยอะๆ) แล้วคนให้เข้ากัน เนื่องจากไข่ในซอสจะได้รับความร้อนจากส่วนผสมอื่นๆ ที่เทเข้าไปรวมกับซอสในภายหลังเท่านั้น จึงมีโอกาสที่ไข่บางส่วนอาจจะไม่สุกดี แนะนำว่าควรใช้ไข่ที่สดใหม่เสมอ และคนที่สุขภาพไม่ดีควรหลีกเลี่ยงเมนูนี้

ต้มเส้นพาสต้าที่ชอบให้ al Dente จากนั้นตั้งกระทะด้วยไฟกลาง ใส่น้ำมันมะกอก ทอดแพนเชตต้าหรือเบคอนที่หั่นท่อนไว้ ให้กรอบเล็กน้อย ยกขึ้นพักไว้ ใส่กระเทียมสับ คั่วจนเหลืองทอง ใส่เส้นที่ต้มสุกแล้วลงไปผัด เติมเกลือ พริกไทย และพาสลีย์สับ พยายามให้เส้นเคลือบด้วยนำ้มันให้ทั่ว สักพัก ปิดไฟ เททุกอย่างลงในซอสที่เตรียมไว้ในชาม คลุกอย่างรุนแรงให้ส่วนผสมทุกอย่างเข้ากัน และเพื่อให้ไข่ได้รับความร้อนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เสริฟ์ลงบนจาน แต่งหน้าด้วย พาเมซานชีส ตามใจชอบ

ส่วนผสม (สำหรับ 1 ที่)

  • สปาเก็ตตี้ หรือ เพนเน่ หรือเส้นพาสต้าแบบอื่นที่ชอบ 80 g
  • แพนเชตต้า (หรือเบคอน) 35 g
  • ไข่หนึ่งฟอง และไข่แดงอีกหนึ่งใบ
  • พาเมซาชีส 4 ช้อนโต๊ะ (สำหรับทำซอส)
  • กระเทียม 1-2 กลีบ
  • น้ำมันมะกอก 1-1.5 ช้อนโต๊ะ
  • อิตาเลียนพาสลีย์สับ 1 ช้อนชา
  • พาเมซานชีสป่น 1 ช้อนโต๊ะ (สำหรับแต่งหน้า)
  • เกลือ และพริกไทย

Pasta with Pesto Sauce

Pesto แปลว่า เร็ว เมนูนี้จึงเป็นเมนูด่วน ที่ทำกินง่ายๆ สำหรับคนอิตาเลียน

เพื่อป้องกันความสับสน ผมขอระบุส่วนผสมของซอสชนิดนี้โดยใช้หน่วยเป็นกรัมทั้งหมด ใบโหระพาที่ใช้เป็นของอิตาเลียน แต่ถ้าหาไม่ได้ก็ใช้ของไทยก็ได้ (บอกก่อนว่ากลิ่นไม่เหมือนกัน) ถ้าไม่มีเมล็ดสน จะใช้ถั่วอย่างอื่นเช่น ถั่วลิสง แทนก็ได้ บดส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างละเอียดด้วยเครื่องปั่น สูตรของผมจะค่อนข้างเข้มข้น ดูคล้ายน้ำพริกแกงเขียวหวานบ้านเรา หรือจางกว่านิดหน่อย แต่ซอสเพลโต้ของแต่ละคนอาจเข้มข้นไม่เท่ากัน บางคนจะจางกว่านี้ แบบว่าเห็นเป็นน้ำสีเขียวเลย ดังนั้นแล้วแต่ความชอบ สูตรใครสูตรมัน

ต้มเส้นเพนเน่ให้ได้ al Dente แล้วนำไปคลุกกับซอสเพสโต้ที่เตรียมไว้ โรยหน้าด้วยพาเมซานซีสป่น เพิ่มก็ได้ เมนูนี้เป็นวีแกนไปด้วยในตัว แต่ถ้าใครอยากกินเนื้อสัตว์จะใส่เบคอนทอดลงไปด้วยก็ได้ ไม่ผิดกติกาถ้าอยากกิน

ส่วนผสมของซอสเพสโต้ (สำหรับ 1 ที่)

  • น้ำมันมะกอก Extra Virgin 25g
  • เมล็ดสน 25 g
  • ใบโหระพาอิตาเลียน 10g
  • พาเมซานชีส 10g
  • เกลือเล็กน้อย

Pasta Amatriciana – ทำพาสต้ายังไงให้อร่อย

พาสต้าที่คนอิตาเลียนกินจริงๆ มีอะไรหลายอย่างที่แตกต่างจากพาสต้าที่เราคุ้นเคย ผมจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาลองทำพาสต้าสไตล์อิตาเลียนกัน

พาสต้ามีหลากหลายรูปแบบมาก แต่พาสต้าที่ผมทำกินเองบ่อยที่สุด คือ Pasta Amatriciana เพราะทำง่ายและอร่อย เป็นตัวแทนของพาสต้าที่ดี คำว่า Amatriciana เป็นชื่อเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของพาสต้าชนิดนี้

เวลาต้มเส้นพาสต้า คนอิตาเลียนชอบให้เส้นไม่สุก แต่เกือบสุก หรือที่เรียกว่า al Dante ซึ่งผิวด้านนอกของพาสต้าจะสุกพอดี แต่ข้างในยังไม่สุก เคี้ยวแล้วมีลักษณะเป็นไตๆ นิดหน่อย อันที่จริงเส้นบะหมี่ที่อร่อยก็มักจะเกือบสุกเช่นกัน เพราะกินแล้วไม่อืด และในแง่โภชนาการ การที่แป้งยังไม่สุก 100% จะช่วยทำให้ย่อยช้าลง เป็นการลด GI Index ซึ่งดีต่อสุขภาพ จะเห็นได้ว่าคนอิตาเลียนกินพาสต้าเยอะมาก แต่อายุยืน

เวลาต้มพาสต้า เราจะใส่เกลือลงไปด้วย ในอัตราส่วน 1 ช้อนช้า ต่อน้ำ 500 cc อย่าใส่อะไรแผลงๆ เช่น น้ำมันมะกอก ลงไปเป็นอันขาด คนอิตาเลียนเขาไม่ทำกัน และเวลาต้มเสร็จแล้วก็ไม่ต้องเอาเส้นไปช็อคนำ้ หรือเคลือบน้ำมันมะกอกใดๆ ทั้งสิ้น (ขอร้องล่ะ)

ระยะเวลาต้ม ต้องดูจากข้างซองเป็นหลัก เพราะแต่ละยี่ห้อ แต่ละชนิด ใช้เวลาต้มไม่เท่ากัน จำนวนนาทีข้างซองนี้หมายถึงเวลาที่พาสต้าอยู่ในน้ำที่เดือดแล้วเท่านั้น ไม่ใช่ตั้งแต่เริ่มตั้งไฟ และถ้าต้องการให้ได้เส้นแบบ al Dante ก็ให้ลดเวลาต้มละประมาณ 1 นาที บางคนจะทดสอบความเป็น al Dante ด้วยการปาเส้นไปติดข้างฝา ถ้าเส้นสามารถเกาะข้างฝาได้พอดี แสดงว่าได้ที่แล้ว แต่เราคงไม่ต้องถึงขนาดนั้น อาจจะใช้วิธีชิม หรือเวลาที่เราคน เราจะรู้สึกได้ถึงระดับความแข็งของมันอยู่แล้ว ​แต่ถ้ายังไม่ชำนาญ ก็แค่ต้มให้ได้จำนวนนาทีตามที่บอกไว้ข้างซอง เก็บน้ำต้มพาสต้มไว้ประมาณ 1/4 ถ้วยด้วย เผื่อใช้

เนื้อสัตว์ที่ใช้ในเมนูนี้ที่จริงแล้วต้มเป็นแก้มหมูตากแห้ง แต่หาซื้อค่อนข้างยากในไทย ผมแนะนำให้ใช้ Pancetta แทน เพราะกรรมวิธีการผลิตคล้ายกัน แต่เป็นส่วนของท้องหมู ทำให้ได้รสชาติที่ใกล้เคียง แต่ถ้าหาซื้อไม่ได้ ก็ให้ใช้เบคอนแทน แต่บอกก่อนว่า รสชาติจะค่อนข้างแตกต่างจากแก้มหมู

มะเขือเทศสับที่ใช้ในเมนูนี้แนะนำให้ใช้มะเขือเทศกระป๋อง เพราะรสชาติคงที่มากกว่า แต่เข้มข้นกว่ามะเขือเทศสด แต่ไม่ได้เข้มเข้มมากขนาด Tomato Paste นะ บางคนผสม Tomato Paste เข้าไปด้วยนิดหน่อย เพื่อปรับความเข้มข้นให้ได้เท่าที่ต้องการ

อิตาเลียนพาสลีย์

เริ่มต้นตั้งกระทะด้วยไฟกลาง ใส่น้ำมันมะกอกลงไป รอให้น้ำมันร้อน ใส่ Pancentta ที่หั่นเป็นชิ้นเต๋าเล็กๆ ลงไป แล้วทอดสักพักให้เริ่มกรอบ แล้วยกขึ้นพักไว้ก่อน จากนั้นใส่กระเทียมสักลงไปในกระทะแทน คั่วให้กระเทียมเริ่มสุก ผมชอบใส่พริกแห้งตามลงไปด้วย แค่เม็ดเดียว ฉีกๆ ลงไปก็พอ (แต่สูตรจริงๆ ไม่มีนะ) จากนั้นใส่มะเขือเทศสับตามลงไป รอให้เดือด แล้วลดไฟลงนิดหน่อย เติมเกลือ พริกไทย และใบพาสลีย์สับลงไป แนะนำให้ใช้อิตาเลียนพาสลีย์นะ ไม่ใช่พาสลีย์แบบที่เราคุ้นเคยกัน รสชาติมันไม่เหมือนกันเลย ทิ้งไว้สักครู่ค่อยใส่เพนเน่ที่ต้มเสร็จแล้วลงไป กวนให้ผสมกับมะเขือเทศให้ทั่ว ผมชอบให้มะเขือเทศแค่เกาะๆ เส้นไว้จนทั่ว ไม่ใช่เยอะจนกลายเป็นบะหมี่น้ำ อะไรแบบนั้น ถ้ารู้สึกว่ามะเขือเทศเริ่มจะแห้งเกินไป ให้เติมน้ำต้มพาสต้าลงไปเจือจางช่วย แต่ถ้าไม่ได้แห้ง ก็ไม่ต้องใช้ ยกขึ้นใส่จาน โรยหน้าด้วยพาเมซานชีสป่น

 

ส่วนผสม (สำหรับ 1 ที่)

  • เพนเน่ 80 g
  • แพนเชตต้า (หรือเบคอน) 35 g
  • มะเขือเทศบด (กระป๋อง) 200 cc
  • กระเทียม 1-2 กลีบ
  • พริกแห้ง 1 เม็ด
  • น้ำมันมะกอก 1-1.5 ช้อนโต๊ะ
  • อิตาเลียนพาสลีย์สับ 1 ช้อนชา
  • พาเมซานชีสป่น 1 ช้อนโต๊ะ
  • เกลือ และพริกไทย

 

แซลมอนย่างเกลือ

แซลมอน เป็นอาหารสุขภาพที่อร่อย เพราะมีโอเมก้า 3 เป็นโปรตีนที่ปลอดภัย จึงเป็นหนึ่งในเมนูที่ผมพยายามกินเป็นประจำ และรูปแบบที่ผมชอบมากที่สุดก็น่าจะเป็นการเอาแซลมอนไปย่างเกลือ สไตล์อาหารญี่ปุ่น เพราะทั้งทำง่ายมาก และอร่อยมากด้วย อาศัยรสชาติที่อร่อยอยู่แล้วของแซลมอล เติมเกลือนิดหน่อย ไม่ใช่ให้เค็ม แต่เพื่อให้เกลือช่วยดึงรสชาติของปลาออกมา เป็นหลักของการทำอาหารที่เรียบง่าย แต่ใช้ความสดใหม่ของวัตถุดิบ ทำให้มันอร่อย มากกว่าที่จะเน้นการปรุงรส ซึ่งจะกลบรสชาติที่แท้จริงของอาหารชนิดนั้นๆ ไปอย่างน่าเสียดาย

แซลมอนที่มีขายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตจะมีวิธีชำแระหลากหลายรูปแบบ แต่สำหรับอาหารญี่ปุ่นแล้ว ผมชอบแบบที่ชำแระตามที่เห็นในรูปข้างบนมากที่สุด มันดูญี่ปุ่นดี แต่อาจจะหาซื้อยากสักหน่อย เพราะส่วนใหญ่ร้านนิยมหั่นแบบเอาไปทำสเต็กแบบอาหารฝรั่งซะมากกว่า บางทีผมก็เลยต้องซื้อแบบแช่แข็งเก็บไว้ด้วย ถ้าหากอยากกินขึ้นมากะทันหันจะได้ไม่ต้องไปวนหาซื้อ เพราะอาจจะหาไม่ได้

ชะโลมชิ้นปลาด้วยน้ำมันมะกอกให้ทั่ว แล้วโรยเกลือบางๆ ตามลงไป จากนั้นก็นำเข้าเตาอบ ที่อุณหภูมิประมาณ 200 องศา นาน 15 นาที กลับข้างสักหนึ่งรอบระหว่างกลาง นำมารับประทานคู่กับผัก เช่น ผักสลัด หรือ กิมจิ เป็นต้น ผมชอบการอบด้วยเตาอบที่อุณหภูมิค่อนข้างสูงมากกว่าที่จะเอาไปย่างบนกระทะย่าง เพราะว่ามันจะสุกทั่วกันมากกว่า ข้อสำคัญคืออุณหภูมิในการอบที่จะต้องสูงสักนิดหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่คล้ายการย่างมากที่สุด ไม่ต้องกลัวเรื่องไฟแรงแล้วด้านในจะไม่สุกเท่าไหร่ เพราะว่าปลาเป็นเนื้อสัตว์ที่ค่อนข้างสุกง่ายอยู่แล้ว

แซลมอลย่างเกลือเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับมื้อเย็นที่ไม่ต้องการกินเยอะ แต่มีโปรตีนช่วยให้อยู่ท้องมากกว่าการกินแต่ผักสลัดอย่างเดียว ถ้าสามารถกินได้สักหนึ่งมื้อต่อสัปดาห์ ก็จะช่วยให้ร่างกายได้รับโอเมก้า 3 ที่เพียงพอด้วย ผมไม่เห็นข้อเสียใดๆ ของเมนูที่แสนอร่อยนี้เลย

 

Baked Potatoes – อบมันฝรั่งให้ดูน่ากินเหมือนมันฝรั่งทอด

เฟรนฟรายด์ช่างเป็นอาหารที่แสนอร่อย แต่ข้อเสียก็คือมันเป็นของทอดอย่างหนึ่ง ที่ค่อนข้างจะทำลายสุขภาพ ถ้าหากกินบ่อยเกินไป

ดังนั้นในตอนนี้ผมจะมาแนะนำวิธีการอบมันฝรั่งให้ได้รสชาติที่อร่อยไม่แพ้มันฝรั่งทอดเลย

ล้างมันฝรั่งให้สะอาด แล้วนำลงไปต้มในน้ำเดือด ที่ใส่น้ำส้มสายชูลงไปสัก 3-4 ช้อนโต๊ะ นาน 20 นาที ความเป็นกรดของน้ำส้มสายชูจะช่วยทำให้แป้งที่อยู่ในตัวมันฝรั่งเองฟอร์มตัวที่ผิวนอก เมื่อเวลานำไปอบจะได้ผลลัพธ์ที่กรอบนอกนุ่มใน ดังนั้นขั้นตอนนี้จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญ อย่าข้ามไปล่ะ

มันฝรั่งที่ต้มใหม่ๆ จะปลอกเปลือกง่าย ให้นำมาชุบน้ำที่อุณหภูมิห้องเพื่อให้เย็นลงบ้าง ก่อนที่จะทำการปลอกเปลือก จากนั้นหั่นมันฝรั่งออกเป็นรูป Wedge ซึ่งที่จริงจะหั่นแบบอื่นก็ได้ แต่ผมว่ารูปนี้มันสวยดี ทำให้ยิ่งน่ากินขึ้น

นำมันฝรั่งที่ไร้เปลือกแล้วของเราไปคลุกกับน้ำมันมะกอกให้ทั่วๆ เหมือนกับจะเคลือบผิวสัมผัสทั้งหมดของชิ้นมันฝรั่งทุกชิ้น น้ำมันมะกอกที่เคลือบอยู่ที่ผิวนี่เองที่จะทำให้เมื่อนำไปอบต่อจะกรอบนอก ใกล้เคียงกับการเอาไปทอด จากนั้นโรยเกลือบางๆ ตามลงไป น้ำมันที่เกาะอยู่ที่ผิวจะช่วยทำให้เกลือติดอยู่กับตัวมันฝรั่ง

นำมันฝรั่งที่ได้ไปอบในเตาอบที่อุณหภูมิ 225 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 20 นาที โดยในนาทีที่ 10 ให้เอาออกมากลับด้านสักครั้งหนึ่ง เพื่อให้ทุกด้านสุกเท่าๆ กัน ที่นี้เตาอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คอยเฝ้าดูละกันว่ามันฝรั่งได้ที่แล้วหรือยัง ถ้าดูกรอบ หน้าตาน่ากิน เหมือนมันฝรั่งทอดแล้ว ก็สามารถเอาออกจากเตาก่อนเวลาก็ได้ หรือถ้าผ่านไป 20 นาทีแล้ว ยังไม่ได้ที่ ก็อาจจะอบต่อนานกว่านั้นก็ได้

จัดเรียงให้สวยงาม กินคู่กับ Ketchup หรือกินเปล่าๆ ก็ได้ ไม่ผิดกติกา

the End of the Pale Hour

ไม่ได้ดูหนังญี่ปุ่นมานาน จำได้ว่าช่วงหนึ่งเลิกดูไป เพราะรู้สึกว่าหนังญี่ปุ่นยุคนี้ชอบเดินเรื่องช้ามากๆ ในช่วงแรกๆ แล้วค่อยมาสนุก หรือหักมุมคนดูเอาตอนสิบนาทีสุดท้าย ซึ่งคนสูงอายุอย่างผม รอไม่ไหว บางทีก็หลับไปก่อน หลังๆ ก็เลย เลิกดูไป เพราะไม่อยากเข้าไปนั่งหลับ

วันก่อนรู้สึกอยากดูหนัง ก็เลยมีโอกาสได้กลับมาดูหนังญี่ปุ่นใหม่ ปรากฎว่าไม่ผิดหวังเลยจริงๆ เป็นหนังที่ดูง่าย สนุกตลอดเรื่อง ที่สำคัญผมดูแล้วค่อนข้างอินกับตัวละคร

the End of the Pale Hour เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มชาวญี่ปุ่น ที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงาน ทำให้ต้องเจอเรื่องแย่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องความรัก จะเรียกว่าเป็นแนว coming of age ก็ได้นะ แต่เป็นวัย first jobber

ไม่แปลกเลยที่ผมดูเรื่องนี้แล้วอิน เพราะผมชอบแนวนี้อยู่แล้ว แถมยังเป็นคนที่ชอบตั้งคำถามกับชีวิต ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ ที่เหมือนกับจะทำตามๆ กันไปในสังคม มันเป็นสิ่งที่ถูกหรือเปล่า ที่ชอบมากๆ เลย คือมันเป็นเรื่องทำนองนี้แต่สำหรับคนรุ่นมิลเลนเนียน ผมจำได้ว่ายังไม่เคยดูหนังแนวนี้ที่บริบทเป็นคนรุ่นมิลเลนเนียมมาก่อนเลย เหมือนได้ดู Reality Bites เวอร์ชั่น 2000 ชอบมาก

มีหลายฉากในเรื่องนี้ที่ชอบ ถ้าจะเล่าก็จำเป็นต้องสปอยกันหน่อย อ่านถึงตรงนี้แล้ว ถ้าใครอยากดูเรื่องนี้ ก็ขอให้หยุดอ่านก่อน ดูจบแล้วค่อยกลับมาอ่านต่อ…

ชอบตอนที่หัวหน้าของพระเอกกำชับว่าเวลาประทับตราต้องเอียงนิดๆ ด้วย พระเอกถามด้วยความงงว่าทำไมมันสำคัญขนาดนั้นเหรอ ตอนหลังหัวหน้าเฉลยว่ามันคือการแสดงความอ่อนน้อมต่อท่านประธาน มันสะท้อนวิธีคิดของคนรุ่นเก่าที่หมกมุ่นกับเรื่องสัมมาคาราวะอยู่ตลอดเวลา และเป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่สิ่งที่สะท้อนวิธีคิดที่ต่างกันของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ได้อย่างยอดเยี่ยมเลย

อีกฉากที่ชอบคือ ตอนที่พระเอกกับนางเอกเลิกกันไปแล้ว พระเอกกลับมาถามนางเอกว่า ถามจริงๆ นะจะตอบจริงๆ หรือว่าจะช่วยโกหกหน่อยก็ได้ เธอรู้สึกรักฉันบ้างมั้ย มันเป็นฉากที่ผมรู้สึกสะเทือนใจแทนพระเอกมาก หลังจากที่หนังทำให้เราเห็นชีวิตของเขาที่ผ่านมาทั้งหมด ไม่รู้จะอธิบายยังไงดี คือต้องไปดูเอง ถึงจะเข้าใจ

ชอบมาก ให้ 9/10 ครับ

 

Waldorf Salad – สลัดผลไม้

จะกินผลไม้อย่างเดียวก็เบื่อ การทำสลัดผลไม้อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบทำสลัดวอลดอร์ฟ (Wardorf Salad) เพราะว่าเป็นคนชอบกินผลไม้ไม่กี่อย่าง และหนึ่งในนั้นก็คือแอ๊ปเปิ้ล

ที่มาของสลัดวอลดอร์ฟ คือเป็นเมนูชื่อดังของโรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่งในอเมริกา สลัดชนิดนี้ก็เลยได้ชื่อของโรงแรมมาเป็นชื่อของมัน จริงๆ แล้วมันก็คือสลัดผลไม้นั่นแหละ ผลไม้สามอย่างที่ขาดไม่ได้ และทำให้จานนี้เป็นสลัดวอลดอร์ฟ ก็คือ แอ๊ปเปิ้ล องุ่น และคื่นช่ายฝรั่ง โรยด้วยถั่ววอลนัท ซึ่งเป็นถั่วที่ผมมีประจำบ้านอยู่แล้ว อาจเติมผลไม้อย่างอื่นเข้าไปอีกก็ได้ อันนี้แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคลเลย

น้ำสลัดวอลดอฟท์ใช้มายองเนสธรรมดา เติมมะนาวลงไปด้วย เพื่อให้เปรี้ยวขึ้น รสเปรี้ยวเป็นรสที่เข้ากันมากกับผลไม้ในจานนี้ เติมเกลือและพริกไทยตามชอบ แค่นี้เลย ทำง่ายมากๆ

สิ่งที่ผมชอบทำเสมอหลังเตรียมเสร็จก็คือเอามันไปแช่ตู้เย็นให้เย็นๆ ก่อน แล้วค่อยกิน มันจะยิ่งอร่อย

ส่วนผสม : แอ๊ปเปิ้ล, องุ่น, คื่นช่ายฝรั่ง, ถั่ววอลนัท, มายองเนส, น้ำมะนาว, เกลือ และพริกไทย สัดส่วนตามใจชอบ