My Routine 2023

  • Push up 100
  • Chinese Podcasts
  • Practise Guitar
  • To the Gym
  • Home Cooking
  • Study Time
  • Watch Series

Four pillars of my life

  1. Health – Food Science
  2. Tech Investing – Youtube Podcasts
  3. Mandarin – Italki
  4. Acoustic Guitar – Compose songs

ความสุขของฉัน

  • เข้าสปาหรือฟิตเนสทั้งวัน ลืมโลกภายนอกไปชั่วคราว เดินออกมาเหมือนเกิดใหม่
  • ได้ดูหนังหรือซีรีส์ฟิวกู้ดสักเรื่อง ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ยังอดคิดถึงมันไม่ได้
  • ได้เจอคนที่นิสัยดีๆ หรือคนที่มีบุคลิกที่น่าสนใจ หรือคนได้พูดคุยกับคนที่คุยเรื่องที่สนใจเหมือนๆ กัน แบกออกรส หรือเป็นคนที่มีวิถึชีวิตที่ต่างกับเรามากๆ เหมือนได้เปิดโลก
  • ได้เรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้รู้สึกเปิดกะลา
  • สายตากลับมาดีเหมือนเดิม อ่านหนังสือทั้งวันก็ไม่ปวดตา จะไปนั่งอ่านหนังสือในร้านกาแฟทุกวันเลย
  • เล่นดนตรีสักชิ้นได้ดีมากๆ เหมือนเป็นอวัยวะที่ 33
  • เขียนนิยายสักเล่มจบ ไม่ต้องดังก็ได้ แต่ขอให้มีเนื้อเรื่องที่เราชอบมันจริงๆ
  • เป็นเจ้าของร้านอาหารสักร้าน ที่มีอาหารที่เราชอบจริงๆ และคนอื่นๆ ก็ชอบมันมากๆ เป็นร้านที่เลี้ยงตัวเองได้ และเราไม่ต้องเฝ้ามันทั้งวัน

มานั่งเขียนอะไรแบบนี้ทำให้ค้นพบตัวเองเหมือนกันว่า เราไม่ได้ชอบวัตถุ แต่เราชอบประสบการณ์ดีๆ และทักษะดีๆ มากกว่า

ชีวิตคนเรามีหลายด้าน อยากลองมีชีวิตแบบอื่นบ้าง

ผมพบว่า ตอนนี้ไอดอลของผมหลายคน ล้วนเป็นคนที่เลือกอาชีพที่ตัวเองชอบเป็นหลัก และแทบจะไม่สนใจความคาดหวังของสังคมเลย คนหนึ่งเลือกที่จะทำ DIY และหาเงินผ่านช่องยูทิวบ์เรื่อง DIY, อีกคนหนึ่ง เรียนมาซะสูงเลย เลยสุดท้ายกลับไปเป็นครูสอนเด็กมัธยม เพราะชอบงานสอน แล้วก็เปิดร้านกีต้าร์ เพราะชอบกีต้าร์มาก ทั้งที่มันเป็นธุรกิจที่รอดยากมาก อีกคนก็เลือกที่จะไม่ทำงานประจำ แต่ทำช่องเกี่ยวกับภาษาจีน เพราะรักภาษาจีนมาก ยอมมีรายได้น้อยมาก เพราะอยากทำแต่สิ่งที่รักทุกวัน อีกคนก็เป็นเจ้าของแนวคิด หาเงินได้มากแค่พอจะไปกินชาบูชิเมื่อไหร่ที่อยากกินได้ก็พอ แล้วเวลาที่เหลือจากนั้นของทำสิ่งที่รักดีกว่า

ผมน่าจะเป็นคนที่ไม่กล้าทำอะไรแหกขนาดนั้น ก็เลยยังแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ระหว่างความต้องการของตัวเอง กับความคาดหวังของสังคม ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำให้รู้สึกเหมือนกันว่าอาจใช้ชีวิตไม่เต็มที่ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การทำตามความคาดหวังของสังคม มันก็ให้ความมั่นคงในชีวิตมากกว่า ก็ยังดีที่พออายุมากขึ้น เริ่มมีเงินออมแล้ว (กินชาบูชิได้)​ ก็เลยหันมาหาความต้องการของตัวเองมากกว่าเดิม

ช่วงนี้มีความรู้สึกว่า ชีวิตช่วงที่ผ่านมาต้ังแต่เด็ก เราถูกปลูกฝังให้หาเงินเป็นหลัก และถูกวัดค่าจากความสามารถในการหารายได้ ในขณะที่ไม่ใช่ทุกคนในสังคมที่จะเป็นเหมือนเราไปหมด ยังมีคนอีกส่วนหนึ่งที่เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการหารายได้มากขนาดนั้น แต่พวกเขามีอย่างอื่นที่ใช้ตีค่าของตัวเองมากกว่า และมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศในเรื่องนั้น แม้ว่าจะไม่ได้ทำเงินมากก็ตาม บางทีเราก็รู้สึกว่าคนเหล่านั้นเขาก็มีความสุขเหมือนกัน และเราเองก็ไม่จำเป็นต้องมองเรื่องรายได้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเสมอไป ถ้าได้มีโอกาสได้ลองชีวิตแบบอื่นๆ บ้างก็น่าจะดี

ความคิดในหัวช่วงนี้ก็จะประมาณนี้ อาจจะดูเฟ้อเจ้อไปหน่อย ต้องขออภัยคนที่หลงเข้ามาอ่านด้วย

สิ่งที่ผมเกลียดเกี่ยวกับสังคมเอเชีย

หนึ่งในสิ่งที่ผมเกลียดมากที่สุดเกี่ยวกับสังคมเอเชียคือ การเป็นสังคมที่แบ่งชนชั้นกันด้วยวัยวุฒิ

ถ้าคุณแก่อายุสัก 80 คุณจะเป็นเหมือนพระเจ้าในสังคมเอเชียเลย คุณไม่ต้องเกรงใจใครทั้งนั้น ทุกคนต้องเกรงใจคุณ ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณยังเด็ก คุณก็ไม่ต่างอะไรจากขี้ข้า

ดูผิวเผินก็เหมือนจะเป็นเรื่องที่ดีที่เป็นสังคมที่มีสัมมาคารวะ ผู้น้อยให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่ ตอนเด็กๆ ผมก็คิดแบบนั้น แต่ในทางกลับกัน มันคือวัฒนธรรมที่ส่งเสริมอัตตา

คนเรายิ่งแก่ตัวลง เรายิ่งผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากกว่าคนอื่น มันยิ่งสมควรที่จะเป็นเราที่เป็นผู้ที่มีปัญญาพอที่จะตกเป็นทาสของอัตตาของตัวเราเองน้อยกว่าคนอื่น เรายิ่งต้องฟังคนอื่นมากขึ้น อ่อนน้อมถ่อมมากขึ้น รู้จักถอยให้คนอื่นมากขึ้น แต่สังคมวัยวุฒิ ยิ่งแก่เราจะยิ่งรู้สึกลำพอง เพราะเราอยู่สูงกว่าคนอื่น ใครๆ ก็ต้องไหว้เราทั้งนั้น สุดท้ายแล้วกลายเป็นคนยิ่งแก่ก็ยิ่งอีโก้จัด ไม่ได้เป็นคนแก่แบบโยดา

อันที่จริงคุณค่าของคนเราไม่ควรวัดจากอายุ แต่ควรวัดจากสิ่งที่เรากระทำหรือคุณค่าของคนๆ นั้นที่มีต่อสังคมมากกว่า คนหัวหงอกเป็นโจรก็มีเยอะเยอะไป ไปหาดูได้ในเรือนจำ คนอายุน้อยก็ควรจะสามารถขัดผู้ใหญ่ได้ มาสู้กันด้วยเหตุและผลล้วนๆ ไปเลยดีกว่า อย่าไปนับผมหงอกบนหัวแข่งกันเลย

แม้แต่ตัวผมเอง เวลามีคนที่เด็กกว่ามาพูดอะไรที่ฉลาดกว่า ผมก็มักจะรู้สึกโกรธ รู้สึกเสียหน้า โดยอัตโนมัติ เพราะสังคมเอเชียมันปลูกฝังให้เรามองคุณค่าของจากอายุ แต่ถ้าสังคมของเราไม่ได้มีวัฒนธรรมแบบนี้ เวลาที่เด็กมาพูดอะไรฉลาดกว่าผม ผมก็คงไม่ได้รู้สึกเสียหน้าอะไร ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดีกว่ามิใช่เหรอ

องค์กรแบบไทยเป็นองค์กรที่ผลิตภาพต่ำมาก ไม่มีใครกล้าขัดคอเจ้านาย ไม่มีใครกล้าทำตัวเด่นกว่ารุ่นพี่ แต่บางที ผู้น้อยก็อาจเป็นคนที่มีไอเดียที่ดีกว่าผู้ใหญ่ก็ได้ ถ้าหากผู้น้อยสามารถพูดได้อย่างอิสระ สิ่งที่ดีก็จะถูกนำมาปรับปรุงแก้ไของค์กรให้ดีขึ้นได้

วัยวุฒินิยมเป็นอะไรที่ฝังรากลึกมากในสังคมเอเชีย เวลาที่ผมเปิดเผยความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมก็มักจะถูกเกลียดชัง ราวกับว่าเป็นคนที่ชั่วชาติมากที่มีความคิดแบบนี้ แต่นอกบริบทของสังคมเอเชีย ผมเชื่อว่า ความคิดแบบผม เป็นเรื่องที่ธรรมดาเอามากๆ

เป้าหมายระยะยาว ณ ตอนนี้

เขาเป็นชายวัย 50+ ผอม ผมสั้น ใส่แต่เสื้อยืด กางเกงยีน รองเท้ากีฬา ไม่ขับรถส่วนตัว มีความภาคภูมิใจในความเป็นมนุษย์ low carbon เขาไม่ได้ทำงานประจำ แต่ออมเงินส่วนใหญ่ไว้ในตลาดหุ้น ซึ่งเขาใช้เวลาน้อยมากในการดูแลพอร์ต เพราะเขาลงทุนระยะยาวๆ เท่านั้น

ทุกเช้าเขาจะวิดพื้นวันละ 100 ครั้ง หรือไม่ก็ทำ core training ช่วงเช้า และในแต่ละสัปดาห์เขาจะไปวิ่งออกกำลังกายให้ได้สามครั้ง ครั้งละ 30 นาที เหมือนคำแนะนำทางสุขภาพ นอกจากนี้ เขายังเป็นคนส่วนน้อยในโลกเวลานี้ที่ไม่ติดโซเซี่ยล! เขาบล็อกมือถือตัวเองไว้ไม่ให้ไถหน้าจอได้ตั้งแต่สองทุ่มยังแปดโมงเช้า

เขากินอาหารได้ทุกอย่าง แต่กินแป้งและน้ำตาลน้อย เพิ่มผัก ผลไม้ ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ แต่ไม่ใช่ส่วนประกอบหลักของมื้ออาหาร เขาดื่มแต่น้ำเปล่าเป็นเครื่องดื่มเท่านั้น ทำอาหารกินเองบ้าง งดมื้อเย็นบ้าง เขาพยายามสร้างแนวคิดของการทำอาหารที่ปรุงง่าย ใช้ส่วนผสมน้อยๆ ได้สุขภาพ แต่ในเวลาเดียวกันก็อร่อยด้วย อย่างไรก็ตามทุกสัปดาห์จะมีอย่างน้อย 1-2 มื้อที่เขาไปกินอาหารอร่อยๆ เพื่อสังสรรค์กับคนอื่น เขาเชื่อในการแสวงหาความสุขง่ายๆ ให้กับตัวเอง

ทุกวันเขาจะใช้เวลาสักสองชั่วโมงสำหรับการอัพเดทข่าวสาร เทคโนโลยี ท่องเน็ตอยู่ที่บ้าน เปิดแอร์เย็นๆ ฟังเพลง ฟังพอสแคส ขีดๆ เขียนๆ แต่บางวันก็อาจไปนั่งร้านกาแฟเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศด้วย ความสุขของเขาคือการได้เสพความรู้โดยเฉพาะความรู้ใหม่ๆ ที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน เขายังใจกว้างและกระตือรืนร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เขาแบ่งปันความรู้ของเขาผ่านรายการพอดแคสที่เขาจัดอยู่

กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจของเขาได้แก่ การดูซีรีส์หรือหนังดีๆ ดูยูทิวบ์รายการโปรด เข้าสปาร้านนวดบ้างนานๆ ที เขาเล่นกีต้าร์วันละ 15 นาที อ่านหนังสือยาวๆ วันละ 15 นาที ฝึกภาษาจีนวันละ 15 นาที เขาเชื่อในการฝึกฝนทักษะวันละนิด แต่ทำให้ได้ทุกวันต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานๆ เพื่อสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้เกิดขึ้น

ปรัชญาชีวิตประจำตัว

คนเราส่วนใหญ่เสียพลังงานและเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปกับการทำให้คนรอบข้างยอมรับ เราอยากมีและอยากเป็นในสิ่งที่สังคมและคนรอบข้างกำหนดมาให้ เราไม่ได้อยากมีและอยากเป็นในสิ่งเหล่านั้นจริงๆ แต่มันเป็นเพียงแค่ประตูไปสู่การได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างมากกว่า

ที่มันเจ็บปวดก็คือ คนเหล่านั้นส่วนใหญ่ที่เราพยายามเอาใจเขานั้น ไม่ใช่คนที่รักเรา พวกเขาเป็นใครก็ไม่รู้ หรือในหลายกรณี พวกเขาเป็นคนที่เกลียดเรา อิจฉาเรา ดูถูกเรา ไม่อยากให้เราได้ดีด้วยซ้ำ แต่เราก็ยอมเสียพลังงานและเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตเพื่อให้คนเหล่านั้นยอมรับเราให้ได้ แทนที่เราจะเอาเวลาเหล่านั้นไปทำเพื่อตัวเราเองหรือเพื่อคนที่รักเราจริงๆ มันเสียชาติเกิดก็ตรงนี้แหละ

แทนที่เราจะใช้ชีวิตเหมือนคนส่วนใหญ่ ทำไมเราไม่กลับมามองความต้องการของตัวเราเองจริงๆ เลิกแคร์สายตาหรือความคาดหวังของคนอื่น อยากทำอะไรในชีวิตก็ทำเลย ทำให้ตัวเราเองมีความสุขมากที่สุด ในแบบของเราเอง โดยที่ไม่ต้องไปสนใจว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับเรา แบบนี้เราก็จะใช้ชีวิตในแบบที่มีอิสระภาพ มีกดดัน และที่สำคัญก็คือใช้มันอย่างคุ้มค่าจริงๆ

ความสุขของผม

ณ ตอนเวลานี้ ผมคิดว่าความสุขของผมคือ

  • การได้สร้างสรรค์อะไรบางอย่าง เช่น สร้างบล็อกดีๆ สร้างแอพดีๆ สร้างร้านออนไลน์ที่เก๋ๆ แต่งเพลง เขียนนิยาย ของตัวเอง
  • ได้เสพงานสร้างสรรค์เหล่านั้นของคนอื่น เช่น ดูหนังซีรีส์ดีๆ สักเรื่อง อ่านหนังสือดีๆ ฟังเพลงเจ๋งๆ
  • ได้รู้สิ่งใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้อ่านบทความดีๆ ดูคลิปสาระความรู้ดีๆ พร้อมกับจิบกาแฟไปด้วย (แต่น่าเสียดายที่กินกาเฟอีนไม่ได้แล้ว) ในร้านกาแฟบรรยากาศดีๆ เปิดแอร์เย็นๆ
  • ได้กินอาหารอร่อย ไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นความอร่อย
  • เดินออกมาจากสปาตัวเบาหวิว รู้สึกสบายตัวและสบายใจ ใจเย็นๆ ไม่มีอะไรที่ทำให้รู้สึกรีบร้อน มีสมาธิอยู่กับตัวเอง มองโลกเหมือนเพิ่งเคยเห็นโลกเป็นครั้งแรก
  • ได้พบปะคนดีๆ หรือคนที่มีอะไรบางอย่างที่พิเศษ ได้เสวนาอย่างออกรสกับคนเหล่านั้น แล้วรู้สึกเหมือนได้เปิดโลก

จะพยายามทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นให้มากที่สุดนับต่อนี้ไปครับ ซึ่งการจะทำอย่างนี้ได้นานๆ สิ่งที่ต้องดูแลให้ดีเป็นอย่างมากเลย ก็คือสุขภาพ

ออกแบบไลฟ์สไตล์ให้ตัวเอง

เราควรออกแบบกิจวัตรประจำวันของเราให้รวมเอาทุกสิ่งที่อย่างที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายชีวิตในระยะยาวของเราแล้วทำให้ได้เป็นนิสัยแบบไม่ต้องคิดหรือใช้ความพยายามเลยเหมือนการแปรงฟันทุกวัน

หลังจากที่ได้ลองออกแบบกิจวัตรแล้วทำตามมาได้ระยะหนึ่ง ก็ได้เห็นข้อดีข้อเสียหลายอย่าง ตอนนี้ก็เรียกว่าพร้อมแล้วที่จะกำหนดกิจวัตรประจำวันอย่างเป็นทางการสักที

หลายสิ่งที่ได้เกิดขึ้นกับตัวผมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้รู้สึกว่า ความสำเร็จช่างเป็นสิ่งที่ irrelevant เราเริ่มเห็นคุณค่าของการมีความสุขมากกว่าความสำเร็จ เป้าหมายปัจจุบันของผมจึงกลายเป็นอยากเป็นคนมีความสุข

คำแนะนำหนึ่งที่ค่อนข้างมีอิทธิพลสำหรับผมคือ คนที่จะมีความสุขเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณได้ต้องมีพร้อมในสามเรื่องคือ สุขภาพ เงิน และความสัมพันธ์กับคนอื่น ดังนั้นกิจวัตรของผมก็ควรจะยึดตามคำแนะนำนี้ด้วย

ผมเป็นคนโชคดีที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่มีความสุขได้จากกิจกรรมที่ค่อนข้างง่าย คือได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ จนเกิดสภาวะ Flow แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ดังนั้นผมจึงแค่อยากใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมที่มีความสุขเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด ได้แก่ การได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นวัตกรรมต่างๆ การได้เสพงานศิลปะที่เต็มไปด้วยไอเดียความคิดสร้างสรรค์ เช่น หนังซีรีส์ดีๆ อาหารอร่อยๆ หรือแม้แต่การได้ใช้ชีวิตง่ายๆ เนิบช้า อย่างการทำกับข้าวง่ายๆ กินเอง ก็ทำให้ผมมีความสุขได้อย่างน่าประหลาด เป็นต้น แต่ก็มีกิจกรรมบางจำพวกที่ทำให้มีความสุขในระยะสั้น แต่ระยะยาวทำให้เครียด ได้แก่ การเล่นโซเซี่ยล การเสพข่าวดราม่า การเมือง เป็นต้น เหล่านี้ทำให้เรากลายเป็นทาสของโดพามีน ผมขอเลือกที่จะทำกิจกรรมเหล่านี้ให้น้อยลง

ที่จริงแล้วผมชอบอ่านหนังสือมาก การได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม จิบกาแฟ แอร์เย็นๆ นั่นคือความสุขที่สุดแล้ว แต่ในความโชคดีนี้ก็มีความโชคร้าย ช่วงหลังผมมีปัญหาสายตาเยอะมาก และกินกาเฟอีนไม่ได้แล้วด้วย ก็เลยต้องทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ทำให้มีความสุขเหมือนกันแต่ไม่ต้องใช้สายตาเยอะแทน ตัวอย่างเช่น การฟังPodcast ฟังเพลง ฟังวิทยุ ฟังหนังสือเสียง เล่นดนตรี การออกกำลังกายแบบไม่หนัก เป็นต้น แต่กิจกรรมที่ผมเลือกทำเป็นประจำจะต้องไม่สร้างคาร์บอนมากเกินไป หรือใช้เงินเยอะๆ

สรุปแล้ว กิจวัตรประจำวันของผมได้แก่

  1. วิดพื้นให้ได้ 100 ครั้งแบบถูกท่า
  2. ฟัง Podcast เพื่อหาข่าวที่เพิ่มพูนโลกทัศน์ของตัวเอง และอะไรก็ได้เกี่ยวกับภาษาจีน
  3. หัดเล่นกีต้าร์ 15-30 นาที
  4. อยู่หน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน

เวลาที่เหลือจากนี้ในแต่ละวันก็พยายามใส่กิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุขเข้าไปให้เยอะๆ นอกจากนี้แต่ละสัปดาห์ผมจะมีภารกิจได้แก่

  1. วิ่งครั้งละ 25 นาที อย่างน้อยหนึ่งครั้ง (ideally 3 ครั้ง)
  2. นั่งสมาธิครั้งละ 15-30 นาที หนึ่งครั้ง
  3. กินมื้อเดียวทุกวันพฤหัส
  4. ทำอาหารกินเองอย่างน้อยหนึ่งมื้อ

ผมตัดสินใจลดเวลาหน้าจอลงเหลือวันละไม่เกินหนึ่งชั่วโมง เพื่อลดการใช้สายตา และลดการเสพติดโซเซี่ยล ซึ่งการหันมาฟัง Podcast เป็นอะไรที่ตอบโจทย์นี้ได้ดี (และยังตอบโจทย์เรื่องการลงทุนไปด้วย) นอกจากนี้ ผมจะต้องทำ content ลงเน็ตให้น้อยลงด้วย ไม่ว่าจะเป็นยูทิวบ์ หรือบล็อก จะเขียนเฉพาะเรื่องที่อยากทำมากจริงๆ เท่านั้น เพื่อลดเวลานั่งหน้าจอตัดต่อคลิป จะว่าไปที่ผ่านมาผมก็หาคำตอบไม่ได้เหมือนกันว่าผมจะทำคอนเทนท์ไปเยอะๆ ทำไม มันอาจเป็นแค่ความหิวแสงของตัวเราเอง ต่อไปนี้ผมจะหันไปเล่นพวก Reddit หรือทำ Review สั้นๆ มากขึ้นแทน เช่น รีวิวร้านอาหารที่ได้ไปกินมา ซีรีส์ที่เพิ่งดูจบ ความรู้ใหม่ๆประจำวัน ฯลฯ แค่นี้ก็พอ เน้นเนื้อหาเชิงบวก เป็นการใช้โชเซียลเพื่อพัฒนาด้านสังคมแทน (มี engagement กับคนที่มีความสนใจแบบเดียวกัน)

 

คำตอบของ Albert Camus

Existentialism บอกว่า ชีวิตนั้นไร้ความหมาย (absurdity) ทำให้เรารู้สึกอึดอัด (anxiety) ซึ่งถ้าเราไม่หนีความอึดอัดด้วยการฆ่าตัวตาย เราก็ต้องหันเข้าหาความเชื่อต่างๆ เพื่อหลอกตัวเองว่า ชีวิตมีความหมายบางอย่างอยู่ เราจะได้ไม่ต้องรู้สึกทุกข์จากความอึดอัดอันนี้ แต่การหันเข้าหาความเชื่อก็คือการฆ่าตัวตายอีกรูปแบบหนึ่งอยู่ดี เป็นการฆ่าตัวตายทางจิตวิญญาณ คือหลับหูหลับตาใช้ชีวิตไปตามความเชื่อ เหมือนกับไม่เคยมีชีวิตอยู่นั่นเอง

มาถึงตรงนี้ทำให้ผมเข้าใจผิดมาตลอดว่า Existentialism บอกให้ยอมรับความจริงว่าชีวิตไร้ความหมาย ทั้งที่มันอึดอัดและทรมานก็ตาม ที่จริงแล้ว Albert Camus คิดว่า การยอมรับความจริงนี้แล้วทำให้ชีวิตที่ไม่มีความสุข ก็ไม่ใช่ทางออกเช่นเดียวกัน เพราะคือการยอมจำนนต่อคำสาบนั้น ซึ่งก็แย่อยู่ดี

Albert Camus เห็นว่าเรายอมรับความจริง แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ให้กบฎต่อความจริงนั้น  (Existential Rebel) คือมีความสุขให้ได้ แม้ว่าจะรู้ว่าชีวิตไร้ความหมายก็ตาม

คนที่มีความสุขเพราะหันเข้าหาความเชื่อ กับคนที่มีความสุขเพราะเป็น Existentialist นั้น ดูผิวเผินแล้วคล้ายกัน แต่จริงๆ แล้วมีเส้นบางๆ ระหว่างคนที่มีความสุขสองแบบนี้

การสร้างความหมายให้ชีวิต ด้วยการเชื่อมโยงกับเป้าหมายชีวิตบางอย่าง เหมือนอย่างที่นักจิตวิทยาแนะนำว่าจะทำให้เรามีความสุขนั้น สุดท้ายแล้ว นอกจากชีวิตจริงจะทำให้เราผิดหวังได้แล้ว เราก็ยังหนีไม่พ้นคำสาปของ Sisyphus อยู่ดี จึงยังไม่ใช่คำตอบอีกเช่นกัน

โลกปัจจุบันทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตต้อง Productive ชีวิตต้องมีเป้าหมาย เราต้องประสบความสำเร็จบางอย่าง ถึงจะมีความสุข แต่จริงๆ แล้ว คนที่จะมีความสุขได้อย่างแท้จริง คือคนที่สามารถใช้ชีวิตประจำวันแบบมีความสุขได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายชีวิตใดๆ เพราะต่อให้เขายังต้องอยู่ภายใต้คำสาปของ Sisyphus (ซึ่งเขาอยู่) แต่เขาก็มีความสุข

ถึงตรงนี้ทำให้ผมคิดถึงวรรณกรรมเรื่องสิทธารถะ ตอนอายุ 20 สิทธารถะไฟแรง ออกไปท่องโลก แต่ในวัย 40 เขาเลือกที่จะเป็นแค่คนขับเรือจ้าง รับส่งคนข้ามฝั่งกลับไปกลับมาเหมือนเดิมทุกวัน ชีวิตที่ต้องไขว่คว้าความสำเร็จ สุดท้ายแล้วก็ต้องแสวงหาใหม่ไปเรื่อยๆ แต่ชีวิตที่สามารถมีความสุขได้กับชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องมีเป้าหมายอะไร คือชีวิตเป็นเป็นอิสระมากกว่า

เป้าหมายชีวิตทั้งหลาย เอาเข้าจริงๆ ก็ไร้ความหมายทั้งหมด เพราะสุดท้ายแล้ว เราทุกคนก็จะถูกลืมไปในที่สุด ไม่รู้จะไขว่คว้าหาการยอมรับจากคนอื่นไปเพื่ออะไร ฝึกมองเห็นความสวยงามของชีวิตประจำวันที่ซ้ำซากจำเจแล้วมีความสุขกับมันให้ได้จะดีกว่า

Alice in Wonderland

https://youtu.be/_rABt1Jh1zc

ต่อไปนี้เป็น fun facts อื่นๆ ของ Alice in Wonderland ที่ไม่ได้ใส่ไว้ในคลิปวิดีโอ

  • บางคนบอกว่า ธีมของเรื่องนี้คือ Identity การที่อลิซตัวเล็กตัวใหญ่คอยาวตลอดทั้งเรื่อง ทำให้เธอสงสัยขึ้นมาว่า จริงๆ แล้วเธอคือใครกันแน่ ในเมื่อเธอเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เธอยังเป็นคนเดิมอยู่รึเปล่า
  • Queen of Hearts กับ Red Queen ในหนังสือจริงๆ แล้วเป็นคนละคนกัน ตัวแรกอยู่ในภาคหนึ่ง เป็นไพ่โพแดง ส่วนตัวที่สองเป็นหมากรุกสีแดง แต่คนมักสับสนคิดว่าเป็นคนเดียวกัน ในหนังของ ทิมเบอร์ตัน เอามารวมเป็นตัวเดียวกันไปเลย นอกจากนี้ในหนังสือยังมีตัวละครอีกตัวชื่อ Duchess ซึ่งเป็นคนละคนอีกเช่นกัน
  • ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า Lewis Carroll เอา Cheshire Cat มาจากไหน แต่ Cheshire เป็นชื่อเมืองในอังกฤษที่เลี้ยงวัวนม และ Cheshire Cat ก็เป็นสัญลักษณ์ของการดีใจที่รีดนมวัวได้เยอะ คำว่า Grin like a Cheshire cat ยังเป็นสำนวนภาษาอังกฤษอีกด้วย มีคนสันนิษฐานว่า Cheshire Cat แทน อาจารย์ที่ปรึกษาคนหนึ่งของ Lewis Carroll
  • Cheshire Cat เป็นเหมือนกูรูของเรื่อง เพราะชอบโผล่มาพูดอะไรเป็นปรัชญาเสมอ วลีอมตะของมันคือ We are all mad
  • Lewis เป็นนักประดิษฐ์ และช่างภาพด้วย เขาเป็นคนยุคแรกๆ ที่เล่นกล้องถ่ายรูป รูปที่อื้อฉาวมากคือรูปนู้ดของหนูน้อย Alice ซึ่งทำให้คนสงสัยว่า Lewis อาจเป็น pedophile แต่ก็ไม่เคยมีหลักฐานที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ ที่แปลกก็คือ หลังจากหนังสือดัง Lewis ไม่ได้รับอนุญาตจากแม่ของเด็กให้เจอกับเด็กอีก โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และบันทึกส่วนตัวของเขาในช่วงเวลานั้นยังถูกฉีกหายไปด้วย
  • Alice in Wonderland ในเวอร์ชั่นหนังของ Tim Burton แตกต่างจากในหนังสือพอสมควร เช่น Queen of Heart กับ Red Queen (ในหนังสือ Through the looking glass) เป็นคนละคนกัน แต่ในหนังถูกยุบให้เป็นคนเดียวกัน ในหนังสือมีพระราชา แต่ไม่มีหัวหน้าอัศวิน ซึ่งกลับกับในหนัง ในหนังสือมี Duchess แต่ในหนังไม่มีตัวละครตัวนี้อยู่เลย เป็นต้น