การเดินตลาดสดธนบุรีที่น่าประทับใจ

ลองไปซื้อผักที่ตลาดสดแบบไม่คาดหวังอะไรมาก เพราะว่าไปตอนเย็น แต่ปรากฎว่าน่าประทับใจ เพราะมีผักที่อยากได้ครบทุกอย่าง และที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ ราคาถูกมาก อโวคาโดลูกละแค่ 15 บาท หรือถั่วงอกถุงเบอเร่อ แค่สิบบาทเอง เท่ากับว่าผักกินได้ทั้งสัปดาห์จ่ายเงินไปแค่ 145 บาท

ดูเป็นอะไรที่เวิร์กอยู่เหมือนกัน รู้สึกเสียดายเงินก่อนหน้านี้ที่เราไปซื้อผักในซุปเปอร์มาร์เก็ตในราคาที่แพงกว่าหลายเท่าตัวไปไม่รู้ตั้งเท่าไหร่แล้ว แค่ขายความสะดวกแค่นี้เอง ในแง่รักษ์โลก ตลาดสดอาจจะยังใช้ถุงพลาสติกกันอยู่ โดยเฉพาะในยุคโควิด แต่ก็ต้องถือว่าน้อยกว่าซุปเปอร์มาร์เก็ต เพราะไม่ใช่ผักทุกอย่างที่จะห่อพลาสติก มีแค่บางอย่างเท่านั้นเอง

 

สร้างระบบการทำอาหารของตัวเอง

การทำอาหารกินเองให้ได้ทั้งความอร่อย สุขภาพ ประหยัด และรักษ์โลก เป็นอะไรที่ยากมากๆ เราอาจบรรลุเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งได้ แต่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะบรรลุทุกเป้าหมายในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ทำกินเองคนเดียว แต่นั่นก็คือสิ่งที่จะพยายามทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในปี 2023 ที่จะถึงนี้

การทำเมนูซ้ำๆ หรือเมนูที่มีความใกล้เคียงกัน เช่น เป็นอาหารของชนชาติเดียวกัน จะช่วยทำให้ประหยัดวัตถุดิบ มีของเหลือทิ้งน้อยลง แต่ข้อเสียก็คือ ความหลากหลายลดลง ความอยากกินก็จะลดลงไปด้วย ทำให้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์เรื่องความอร่อย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าเราจะทำอาหารกินเอง เพราะอาหารของเราต้องแข่งขันกับอาหารที่ซื้อกินได้ เราถึงจะอยากกิน

เรามักคิดว่าการทำอาหารเองนั้นประหยัด แต่จริงๆ แล้ว มันตรงกันข้ามกันเลย อย่างน้อยที่สุดก็ในประเทศไทยยุคนี้ ซื้อกินเองยังไงก็ถูกกว่า เพราะบริษัทขนาดใหญ่มีวิธีการที่จะผลิตอาหารให้ได้ต้นทุนที่ต่ำมาก การทำกินเอง มีโอกาสสูงมากที่วัตถุดิบบางอย่างจะต้องเหลือทิ้ง ตัวอย่างเช่น ผงกะหรี่ ผมไม่เคยใช้จนหมดเลย มันต้องหมดอายุไปก่อน เพราะขวดเล็กๆ หาซื้อยากมาก ขนาดเล็กสุดก็อาจต้องใช้เวลากินหลายปีกว่าจะหมด เป็นต้น คนที่ทำอาหารกินเองได้ถูก อย่างน้อยต้องมีสมาชิกในบ้าน 4-5 คน ถึงจะแบ่งกันกินแล้วคุ้ม ทำกินคนเดียวยังไงก็แพงกว่า แต่ข้อดีของการทำกินเอง คือเราควบคุมวัตถุดิบที่เราจะใส่ได้ เช่น ไม่อยากกินน้ำตาล อยากใช้น้ำมันมะกอกผัดอาหาร ก็ทำได้

เช่นนี้แล้ว ก็สร้างระบบทำอาหารกินเอง ให้ดีที่สุดนั้น เราไม่สามารถเล็งผลเลิศ 100% ได้ แต่จำเป็นต้อง compromise บางอย่าง หาจุด optimal ให้เจอ ตัวอย่างเช่น เราจำเป็นต้องทำเมนูที่ซ้ำบ้างประมาณหนึ่ง เท่าที่ยังอยากกินอยู่ แต่ไม่สิ้นเปลืองวัตถุดิบมากจนเกินไป การใช้ถุงพลาสติกในบางกรณีก็จำเป็น หากต้องการบรรลุเป้าหมายเรื่องประสิทธิภาพ เป็นต้น

โดยส่วนตัว เหตุผลที่หันมาทำกินเองเป็นส่วนใหญ่คือต้องการกินอาหารที่มีผักมากขึ้น ลดการกินน้ำตาล และน้ำมันพืชที่ไม่ดีต่อสุขภาพ รวมไปถึงอยากกินพวก superfood บางอย่างเป็นประจำ เพื่อให้บรรลุเหตุผลหลักนี้ ก็อาจจำเป็นต้องลดความคาดหวังต่อเป้าหมายอื่นๆ ลงบ้าง ในเวลาเดียวกัน ความอร่อยก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้ารู้สึกไม่อยากกิน ก็ไม่มีประโยชน์ ทรมานตัวเองเปล่าๆ

หลังจากที่ได้ลองทำหลากหลายเมนูมาหลายปี ก็ค่อยๆ ค้นพบว่า เมนูที่ดีต่อสุขภาพ แต่ในเวลาเดียวกันก็รู้สึกว่าอร่อย มากที่สุด ได้แก่เมนูจำพวก หม้อไฟ เช่น สุกี้ ชาบู นาเบะ หมาล่าหม้อไฟ อะไรทำนองนี้ รองลงมาก็คือพวกอาหารย่างที่มีผักประกอบ เช่น แซลมอลย่างเกลือ เนื้อย่าง เป็นต้น ก็เลยคิดว่าจะทำอาหารแนวๆ นี้ กินเองเป็นหลัก

ส่วนใหญ่แล้ว ผักคือวัตถุดิบที่จัดการยากที่สุด เพราะเน่าเสียเร็ว ส่วนพวกเนื้อจะจัดการง่ายกว่าเยอะ เพราะว่าสามารถเก็บไว้ในช่องแข็งได้นานมาก ส่วนใหญ๋แล้วการเลือกเมนูจึงมองเรื่องการใช้ผักเป็นหลัก ว่าจะต้องใช้ผักอะไรบ้าง แล้วเราจะกินผักเหล่านั้นให้หมดได้ก่อนที่มันจะเสียได้อย่างไร การซื้อครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ มีความจำเป็นถ้าหากต้องการได้กินผักที่สดใหม่อยู่เสมอ ต้องคิดว่าเราจะแวะซื้อผักระหว่างทางได้อย่างไร แบบที่ใช้เวลาน้อยที่สุด ถ้าสามารถจัดการเรื่องผ้กได้ดี ก็เรียกได้ว่า มีชัยไปแล้วกว่าครึ่ง

ที่คิดไว้คือมื้อเช้าจะเป็นมื้อที่กิน superfood ทั้งหลายที่อยากกิน เป็นหลัก ได้แก่ นม ถั่ว เบอร์รี่ งา ไข่ และอะโวคาโด ส่วนมื้อกลางวันและเย็น ค่อยกินพวกหม้อไฟ และปิ้งย่าง แล้วก็อาจมีจานผัด จานต้ม เสริมบ้าง รวมทั้งเป็นโอกาสในการกินพวกปลา และผักใบเขียว ด้วย  ถ้าเป็นไปได้ก็จะงดมื้อเย็นบ้าง เพื่อสุขภาพ

มื้อเช้า กินนมใส่ถั่ว เบอร์รี่และธัญพืช กับไข่ลวกหรือไข่ดาว เบคอน ตบท้ายด้วยอโวคาโด

มื้อกลางวันหรือเย็น จะกินเมนูเหล่านี้เป็นหลัก

  1. ชาบู
  2. เช็ตแซลมอลย่าง + บ็อคเคลี กิมจิ
  3. ซุปเกาหลี + ผักเคียง + ข้าวกล้อง
  4. เช็ตเนื้อย่าง + ข้าวกล้อง
  5. ผัดวุ้นเส้นหมาล่า

เมื่อกำหนดเมนูประจำได้แล้ว ก็จะทำให้เรารู้ว่าเราต้องซื้อผักอะไร (และไม่ซื้อผักอะไรบ้าง) ได้แก่ บอกชอย เต้าหู้ เห็ดชิเมจิ บ็อคเคลี กิมจิ แตงกวา ถั่วงอก ผักกาดหอม อโวคาโด แค่นี้ก็พอ จะได้เหลือทิ้งให้น้อยที่สุด ถ้ากินเมนูเหล่านี้วนๆ ไป ก็น่าจะสามารถใช้วัตถุดิบที่ซื้อมาได้หมดจนแทบไม่เหลือทิ้ง

โดยจะแวะซื้อผักและนมระหว่างทางกลับบ้านที่โลตัส หรือไม่ก็ตลาดสด สัปดาห์ละประมาณ 2 ครั้ง ส่วนวัตถุดิบจำพวกเนื้อและอย่างอื่นๆ ก็จะซื้อมาตุนไว้ในช่องแข็ง ทุกวันพฤหัสจะกินมื้อเดียว ส่วนวันอื่นๆ ถ้าเป็นไปได้ ก็จะงดอาหารเย็นด้วย พยายามงดหวาน และใช้น้ำมันมะกอกผัดอาหาร แต่ไม่ได้มีข้อห้ามกินอย่างอื่น กินอะไรก็ได้ที่อยากกิน แต่ไม่กินเยอะ พยายามควบคุมน้ำหนักไว้ไม่ให้เกิน 70 กก. นานๆ ทีก็อาจจะมีการทำเมนูแปลกๆ เพื่อสร้างความหลากหลาย ยังไงๆ ก็ยังต้องกินนอกบ้านอยู่ในบางมื้อที่จำเป็นต้องกินกับคนอื่น ดังนั้นคงไม่ได้น่าเบื่อจนเกินไปอยู่แล้ว

ปีที่ผ่านมาลองไปซื้อของในตลาดสด เพราะอยากลดใช้ถุงพาสติก และผักที่ตลาดสดสามารถซื้อน้อยๆ ได้ แต่พบว่าไม่เวิร์กเลย ตลาดสดมักจะเดินทางไปลำบาก และไม่ได้เปิดตลอดเวลา สุดท้ายแล้วปีนี้ก็เลยหาจุดกึ่งกลาง จะลองซื้อของที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตแทน เพราะถูกว่าห้าง และผักบางส่วนก็ไม่มีถุงพาสติก

ลองดูครับว่าจะเป็นยังไง ตลอดปี 2023 ค่อยๆ ปรับปรุงแผนไปเรื่อยๆ ให้ลงตัว

Fighto.

Cheeseburger Casserole

เมนูนี้เป็นเมนูที่ถอดรื้ออาหารที่เราคุ้นเคยอย่างชีสเบอร์เกอร์ ให้กลายเป็นอาหารที่เน้นสุขภาพมากขึ้น เพราะตัดแป้งออกไปจากส่วนผสม แต่ส่วนผสมอย่างอื่นยังอยู่ครบ และเปลี่ยนวิธีการให้ความร้อนใหม่มาเป็นการอบแทนการทอด มีการเติมไข่ลงไปด้วย เพื่อเชื่อมโยงส่วนผสมทั้งหมดให้เป็นเนื้อเดียวกัน

ใส่เนื้อบด มะเขือเทศสับ ไข่คน เชลด้าชีส ลงไปในถาดเซรามิก โดยเรียงกันเป็นชั้นๆ อาจเพิ่มผักต่างๆ ลงได้ด้วยก็ได้ตามใจชอบ จากนั้นนำไปอบในเตาที่อุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส นาน 20 นาที

ซูกินี่ผัดกระเทียม

อาหารง่ายๆ อย่างซูกินี่ผัดกระเทียมเป็นอาหารที่ช่วยลดน้ำหนักได้อย่างดี ซูกินี่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ ในขณะที่แคลอรี่ก็ต่ำ การผัดกระเทียมช่วยทำให้มีรสชาติและสีสันที่น่าทานมากขึ้น เหมาะสำหรับช่วงลดน้ำหนัก เราสามารถใช้น้ำมันมะกอกในการผัด เพื่อส่งเสริมสุขภาพได้อีกทางหนึ่งด้วย ผัดสักครู่ให้เหลืองน่าทาน

นอกเหนือจากผัดกระเทียมแล้ว เราอาจใส่พริกไทย เกลือ และพริกป่น เพื่อปรุงรสชาติให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น

กาแตงผักรวม – Vegetable Gratin

กาแตงเป็นอาหารที่ทำง่าย ราวกับว่าแค่ใส่ทุกอย่างลงไป ก็เสร็จแล้ว ซึ่งเราสามารถเลือกใส่แต่ผัก สารพัดชนิด ซึ่งเหลือในตู้เย็น สับๆ แล้วใส่ลงไป หรืออาจจะใส่เนื้อสัตว์ผสมเข้าไปด้วยนิดๆ หน่อยๆ เพื่อเพิ่มรสชาติด้วยก็ได้ สิ่งที่ช่วยสมานส่วนผสมทุกอย่างให้เป็นเนื้อเดียวกันคือ นม ชีส เนย และน้ำแป้ง นำทั้งหมดไปอบที่อุณหภูมิประมาณ 200 องศาเซลเซียส ประมาณครึ่งชั่วโมง ก็เสร็จ

ผักที่ใส่ลงไปจะเป็นอะไรก็ได้ แต่มันฝรั่งน่าจะเป็นผักที่ยืนพื้นของเมนูนี้ ส่วนใหญ่แล้วผักที่มีลักษณะแข็งหน่อย จะเหมาะกับเมนูนี้ ตัวอย่างเช่น ฟักทอง พริกหวาน หอมใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง ซูกินี่ มะเขือม่วง แครอท ดอกกระหล่ำ บ็อคเคลี กระหล่ำปลี เป็นต้น ถ้าอยากให้มีเนื้อสัตว์บ้าง ก็อาจใส่พวกไส้กรอก แฮม เบคอน ลงไปด้วย

ส่วนผสม

  • เนย 1 ช้อนโต๊ะ
  • นม 1/2 ถ้วย
  • เชลด้าชีส 1-2 แผ่น
  • น้ำผสมแป้งอเนกประสงค์ 1 ช้อนโต๊ะ
  • ผักและเนื้อสัตว์บดอะไรก็ได้ที่อยากกิน

พาสต้าหน่อไม้ฝรั่งและถั่ว

ช่วงนี้เริ่มอินกับอาหารแนว Whole Food Plant Based (WFPB) ก็เลยพยายามมองหาเมนูที่มีลักษณะแบบนี้

พาสต้าเมนูนี้ไม่มีอะไรพิเศษ ทำเหมือนกับพาสต้าธรรมดา เพียงแต่หน่อไม้ฝรั่งกับถั่วเป็นอะไรที่เข้ากันดี อาจใช้ถั่ว Hazel Nut หรือ Walnut ก็ได้ ปรุงรสด้วยเกลือ พริกไทย เท่านั้น แต่จบด้วยการบีบมะนาวในขั้นตอนสุดท้ายก่อนยกขึ้นเสิร์ฟ และโรยหน้าด้วยพาเมซานชีส เส้นพาสต้าก็เลือกได้หลากหลายตั้งแต่เส้นสปาเก็ตตี้ ไปจนถึงลิงกีนี่เลย

ส่วนผสม

  • เส้นพาสต้าชนิดใดก็ได้ที่อยากกิน 80 กรัม
  • หน่อไม้ฝรั่ง 1 ขีด
  • ถั่ววอลนัท 6-7 เม็ด
  • น้ำมันมะกอก 1-1.5 ช้อนโต๊ะ
  • กระเทียมสับ 1 ช้อนโต๊ะ
  • มะนาว เกลือ พริกไทย พาเมซานชีส ตามใจชอบ

หมูกรอบผัดพริกเกลือ

เมนูนี้ใช้หมูกรอบแพลนท์เบสทำ เพราะเก็บง่าย หาซื้อง่ายกว่าหมูกรอบจริง และที่สำคัญลองกินดูแล้วเป็นอาหารแพลนท์เบสที่อร่อยกว่าที่คิด สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นช่องแข็งได้นานด้วย

ก่อนจะเอาหมูกรอบแพลนท์เบสมาใช้ต้องนำไปทอดให้กรอบน่ากินก่อน โดยทอดในน้ำมันท่วม ดูให้ได้สีสันที่สวยงาม น่ากิน แล้วพักไว้

สำหรับพริกเกลือจะใช้กระเทียมสับผสมพริกขี้หนูสับ ซึ่งโดยมากต้องมีพริกชี้ฟ้าสับผสมไปด้วย เพื่อไม่ให้เผ็ดมากเกินไป ตั้งกระทะน้ำมันร้อน ใส่กระเทียมและพริกที่เตรียมไว้ลงไปผัดสักครู่ให้ดูน่ากิน ค่อยนำหมูกรอบที่ทอดไว้ก่อนแล้วใส่ตามลงไป ผัดต่อ เติมน้ำมันหอย และผงปรุงรส ตามลงไป ใช้เวลาผัดไม่นาน ก็ยกขึ้นเสิร์ฟได้เลย

ข้าวหน้าไก่

เมนูนี้มีความหลากหลายในการทำมาก แต่ส่วนตัวชอบแบบที่น้ำค่อนข้างจะข้นๆ ซึ่งจะใช้แป้งข้าวโพดละลายน้ำเตรียมไว้ เติมตอนสุดท้ายก่อนยกขึ้นหม้อ โดยค่อยๆ เติมจนกว่าจะได้ความข้นที่ตัวเองชอบ ที่สำคัญจะต้องมีพริกชี้ฟ้าเขียวหั่นแว่นกินคู่กันด้วย ไม่รู้ทำไม แต่ว่าชอบสุดๆ

วันนี้ใช้อกไก่ในการทำ แต่จริงๆ แล้วสะโพกไก่จะอร่อยกว่า เพราะมีความมันมากกว่า ทำให้ไม่แห้ง

ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันพืช ผัดกระเทียมสับให้สุก ตามด้วยรากผักชีสับ พริกไทยดำ ผัดจนหอม ใส่เนื้อไก่ตามลงไป ผัดให้สุก แล้วเติมน้ำเปล่า ตามด้วยน้ำมันหอย ซีอิ้วขาว น้ำมันงา เหล้าจีน ตุ๋นต่อไปด้วยไฟอ่อนสักพักให้น้ำงวดลง ค่อยเติมน้ำแป้งข้าวโพดลงไป แบบทยอย เพื่อให้ได้ความเข้มข้นที่ตัวเองชอบ ยกขึ้นจากหม้อ ราดข้าว แต่งจานด้วยแตงกวาและพริกชี้ฟ้าเขียว

ส่วนผสม

  • ข้าวสวย 1 จาน
  • อกไก่หรือสะโพกไก่ หั่นเต๋าใหญ่ 1 ชิ้น
  • น้ำเปล่า 1/4 ลิตร
  • น้ำมันหอย 2 ช้อนโต๊ะ
  • ซี้อิ้วขาว 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมันงา 1/2 ช้อนโต๊ะ
  • เหล้าจีน 1 ช้อนโต๊ะ
  • รากผักชี 1 ราก
  • กระเทียมสับ 1/2 ช้อนโต๊ะ
  • พริกไทยดำ 1 ช้อนชา
  • แป้งข้าวโพด 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 6 ช้อนโต๊ะ
  • แตงกวา และพริกชี้ฟ้าเขียวซอย พอประมาณ
  • ผักชีโรยหน้า

มาม่าผัดขี้เมา

เมนูนี้อาจจะดูเป็นอาหารสำเร็จรูป แต่จริงๆ ก็แค่เส้นอย่างเดียว เส้นมาม่าเป็นเส้นที่อร่อย และการที่เราเอามาลวก ทิ้งน้ำที่ลวกไป และไม่ได้ใช้ผงสำเร็จของมัน ก็ทำให้เมนูนี้ไม่ได้ unhealthy อย่างที่คิด

ผัดขี้เมาเป็นอะไรที่ไม่มีนิยามตายตัว บางคนใช้ใบกระเพรา แต่บางคนใช้ใบโหระพา บางคนใส่พริกหยวกด้วย บางคนก็ไม่ใส่ แต่สูตรของผมจะใช้ใบกระเพรา และไม่ใส่ถั่วฝักยาว ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นผักที่ซื้อมาแล้วจะกินไม่หมด เพราะขายเป็นกำใหญ่เกินไปสำหรับคนหนึ่งคนที่จะกินหมดได้ในสัปดาห์เดียว

สำหรับน้ำซอสก็ใช้ซอสผัดธรรมดา ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือน้ำมันหอย ตามด้วยซีอิ้วขาว พริกไทยขาวป่น เกลือนิดหน่อย จะใส่น้ำตาลหรือไม่ก็ได้

ส่วนผสม

  • มาม่า 1 ห่อ (เฉพาะเส้น) ลวกในน้ำเดือด 3 นาที
  • กุ้งสองตัว หรือซีฟู้ดอะไรที่ชอบ
  • ข้าวโพดอ่อน 2 ฝัก
  • ใบกระเพราะ 2 ต้น
  • ใบมะกรูดซอย 2 ใบ
  • พริกชี้ฟ้าแดงซอย 5-6 ชิ้น
  • น้ำมันหอย 1 ชต.
  • ชีอิ้วขาว 1 ชต.
  • น้ำมันพืช และกระเทียมสับ พอสมควร
  • พริกไทยขาวป่น และน้ำตาลทราย พอสมควร

หมูตุ๋น

หมูตุ๋นที่จะทำเป็นสไตล์เอเชีย เลยไม่มีพวกหัวหอม แครอท แต่ถ้าใครอยากใส่ลงไปด้วย ก็ตามสบายเลย ไม่มีถูก ไม่มีผิด แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล

ผมใช้หม้อแรงดัน เพราะช่วยประหยัดเวลาได้เท่าตัว แต่ไม่จำเป็น จะใช้หม้อธรรมดาก็ได้เหมือนกัน วิธีทำก็ง่ายมากเลย แค่ใส่ส่วนผสมทุกอย่างลงไป ยกเว้นน้ำแป้ง ตุ๋นนาน 2 ชั่วโมง (หรือชั่วโมงเดียวสำหรับหม้อแรงดัน) ค่อยเติมน้ำแป้งลงไปทีหลัง เพื่อให้น้ำข้นขึ้นดูน่ารับประทาน เท่านั้นเอง

ที่จริงแล้วส่วนผสมของมันสามารถพลิกแพลงได้เยอะมาก เช่น อาจใส่เครื่องเทศของพะโล้ลงไปด้วย หรือบางทีผมก็แอบใส่ไวน์แดงเข้าไปด้วย ก็ยังได้ ยิ่งใส่ส่วนผสมเข้าไปเยอะๆ ยิ่งทำให้รสชาติมีความซับซ้อนมากขึ้น อร่อยขึ้น

อาจรับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ บะหมี่ และผักคะน้าลวก ก็ได้

ส่วนผสม

  • ใช้เนื้อหมูส่วนที่มีไขมันหรือพังผืดเยอะๆ เช่น ขั้วตับ หรือแม้แต่พวกไหล่ก็ได้ ส่วนพวกเนื้อสันไม่เหมาะจะทำหมูตุ๋น
  • สามเกลอ (รากผักชี เม็ดพริกไทย กระเทียมสับ) 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำเปล่า 2 ถ้วย (แค่เกือบท่วมหมู แต่ถ้าใช้หม้อธรรมดาอาจจะต้องใส่มากหน่อย เพราะน้ำจะระเหยออกไปส่วนหนึ่ง)
  • เหล้าจีน 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมันงา 1/2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมันหอย, ซี้อิ้วขาว อย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาล 2 ช้อนโต๊ะ
  • แป้งสาลีอเนกประสงค์ 1 ช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำเปล่า 6 ช้อนโต๊ะ
  • ผักชี และพริกไทยป่น สำหรับแต่งหน้า