Schopenhauer และจุดมุ่งหมายของชีวิต

ปรัชญาของโชเฟนฮาวเออร์ได้รับอิทธิพลมาจากการที่เขาสนใจและพยายามต่อยอดปรัชญาของ Emmanuel Kant และต่อมาเขาก็พบภายหลังด้วยว่า แนวคิดของเขามีความคล้ายคลึงกับปรัชญาอินเดียมาก ทำให้เขาเริ่มสนใจปรัชญาอินเดียด้วย

โชเพนฮาวเออร์ สังเกตว่า จักรวาลนี้น่าจะต้องมีแรงบางอย่างที่ขับเคลื่อนอยู่ข้างหลังทำให้มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเขาก็ไม่ได้อธิบายมากนักว่าแรงที่ว่านี้มาจากไหน เขาเพียงแต่มีสมมติฐานว่ามันน่าจะมีอยู่ ซึ่งในตัวมนุษย์เองก็มีแรงที่ว่านี้อยู่ด้วยเช่นกัน เรียกว่า Will to Live ที่คอยผลักดันให้เราอยากทำสิ่งต่างๆ ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเป็นแนวคิดที่คล้ายกับกิเลสในปรัชญาของอินเดียมาก

แต่โชเพนฮาวเออร์มองว่า ต่อให้คนเราพยายามตอบสนอง Will to Live ของเรายังไง ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เรามีความพึงพอใจได้ในระยะยาว เพราะแรงนี้เป็นแรงที่ไม่มีที่สิ้นสุด ได้แล้วก็ต้องการมากขึ้นไปอีก สุดท้ายแล้วการพยายามแสวงหาความสุข จึงมักนำไปสู่ความผิดหวังในที่สุด ปรัชญาของเขาได้ชื่อว่าเป็นแนวมองโลกในแง่ร้ายด้วย เพราะเหมือนเราถูกสร้างมาเพื่อให้ผิดหวังในที่สุด (ซึ่งส่วนนี้นับว่าต่างจากปรัชญาอินเดีย ซึ่งมองว่ามีวิธีการที่จะพ้นทุกข์อยู่)​

อย่างไรก็ตาม โชเพนฮาวเออร์ก็มองว่า แม้ว่าความสุขทุกรูปแบบจะแย่หมด แต่ความสุขบางแบบก็แย่น้อยกว่าแบบอื่น ตัวอย่างเช่น การหาความสุขด้วยการแสวงหาวัตถุมาบริโภคหรือครอบครองนั้นเป็นวิธีที่แย่ที่สุด เพราะไม่มีวันจบสิ้น เมื่อได้สิ่งที่ต้องการแล้ว ไม่นานนักก็จะเบื่อใหม่ เพราะรู้สึกว่าชีวิตที่มีทุกอย่างนั้นเป็นชีวิตที่ว่างเปล่าไร้ความหมาย ทำให้ต้องหาความต้องการอย่างใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่การหาความสุขบางประเภท เช่น เสพศิลปะ แสวงหาจริยธรรม แสวงหาความรู้ สร้างมิตรภาพ ฯลฯ นั้นเลวน้อยกว่า เนื่องจากเป็นความสุขที่เสพไปเรื่อยๆ ไม่มีเส้นชัย ทำให้เราสามารถอยู่กับมันได้นานกว่าบางทีก็ตลอดชีวิต [แนวคิดคล้ายๆ กับ Epicurus อยู่นะ] สุดท้ายแล้วคนเราอาจทำได้แค่นี้ คือพยายามเลือกอยู่กับความสุขประเภทที่ไม่ทำให้เราเจ็บปวดมากนักไปตลอดชีวิต พยายามไม่คาดหวังสูงก็จะไม่ผิดหวังมากเกินไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *