หนึ่งในสิ่งที่ผมเกลียดมากที่สุดเกี่ยวกับสังคมเอเชียคือ การเป็นสังคมที่แบ่งชนชั้นกันด้วยวัยวุฒิ
ถ้าคุณแก่อายุสัก 80 คุณจะเป็นเหมือนพระเจ้าในสังคมเอเชียเลย คุณไม่ต้องเกรงใจใครทั้งนั้น ทุกคนต้องเกรงใจคุณ ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณยังเด็ก คุณก็ไม่ต่างอะไรจากขี้ข้า
ดูผิวเผินก็เหมือนจะเป็นเรื่องที่ดีที่เป็นสังคมที่มีสัมมาคารวะ ผู้น้อยให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่ ตอนเด็กๆ ผมก็คิดแบบนั้น แต่ในทางกลับกัน มันคือวัฒนธรรมที่ส่งเสริมอัตตา
คนเรายิ่งแก่ตัวลง เรายิ่งผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากกว่าคนอื่น มันยิ่งสมควรที่จะเป็นเราที่เป็นผู้ที่มีปัญญาพอที่จะตกเป็นทาสของอัตตาของตัวเราเองน้อยกว่าคนอื่น เรายิ่งต้องฟังคนอื่นมากขึ้น อ่อนน้อมถ่อมมากขึ้น รู้จักถอยให้คนอื่นมากขึ้น แต่สังคมวัยวุฒิ ยิ่งแก่เราจะยิ่งรู้สึกลำพอง เพราะเราอยู่สูงกว่าคนอื่น ใครๆ ก็ต้องไหว้เราทั้งนั้น สุดท้ายแล้วกลายเป็นคนยิ่งแก่ก็ยิ่งอีโก้จัด ไม่ได้เป็นคนแก่แบบโยดา
อันที่จริงคุณค่าของคนเราไม่ควรวัดจากอายุ แต่ควรวัดจากสิ่งที่เรากระทำหรือคุณค่าของคนๆ นั้นที่มีต่อสังคมมากกว่า คนหัวหงอกเป็นโจรก็มีเยอะเยอะไป ไปหาดูได้ในเรือนจำ คนอายุน้อยก็ควรจะสามารถขัดผู้ใหญ่ได้ มาสู้กันด้วยเหตุและผลล้วนๆ ไปเลยดีกว่า อย่าไปนับผมหงอกบนหัวแข่งกันเลย
แม้แต่ตัวผมเอง เวลามีคนที่เด็กกว่ามาพูดอะไรที่ฉลาดกว่า ผมก็มักจะรู้สึกโกรธ รู้สึกเสียหน้า โดยอัตโนมัติ เพราะสังคมเอเชียมันปลูกฝังให้เรามองคุณค่าของจากอายุ แต่ถ้าสังคมของเราไม่ได้มีวัฒนธรรมแบบนี้ เวลาที่เด็กมาพูดอะไรฉลาดกว่าผม ผมก็คงไม่ได้รู้สึกเสียหน้าอะไร ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดีกว่ามิใช่เหรอ
องค์กรแบบไทยเป็นองค์กรที่ผลิตภาพต่ำมาก ไม่มีใครกล้าขัดคอเจ้านาย ไม่มีใครกล้าทำตัวเด่นกว่ารุ่นพี่ แต่บางที ผู้น้อยก็อาจเป็นคนที่มีไอเดียที่ดีกว่าผู้ใหญ่ก็ได้ ถ้าหากผู้น้อยสามารถพูดได้อย่างอิสระ สิ่งที่ดีก็จะถูกนำมาปรับปรุงแก้ไของค์กรให้ดีขึ้นได้
วัยวุฒินิยมเป็นอะไรที่ฝังรากลึกมากในสังคมเอเชีย เวลาที่ผมเปิดเผยความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมก็มักจะถูกเกลียดชัง ราวกับว่าเป็นคนที่ชั่วชาติมากที่มีความคิดแบบนี้ แต่นอกบริบทของสังคมเอเชีย ผมเชื่อว่า ความคิดแบบผม เป็นเรื่องที่ธรรมดาเอามากๆ