เรื่องหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของเรายุ่งยากโดยไม่จำเป็นคือ คนเรามักชอบให้คนอื่นคิดเหมือนกับตัวเอง เราชอบคนที่คิดแบบเดียวกับเรา และมักรู้สึกอึดอัดเวลาที่ต้องเจอใครที่คิดต่างจากเรา ถ้าเราสามารถตัดความต้องการนี้ออกไปได้ ชีวิตของเราจะง่ายขึ้นมากในหลายๆ มิติ
มาลองคิดดูดีๆ ทำไมเราต้องอยากให้คนอื่นคิดเหมือนกับเราด้วย ถ้าคนอื่นคิดต่างจากเราแล้วมันยังไง มันก็แค่ความคิดเห็นที่ต่างกันเฉยๆ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่คนสองคนจะคิดเหมือนกันไปหมดทุกเรื่อง เราจะแสวงหาเพื่อนที่คิดเหมือนเราไปทำไม บางทีมันอาจเป็นสัญชาตญาณบางอย่างที่ธรรมชาติสร้างมาให้บรรพบุรุษของเรา เพื่อให้เราอยู่รอดได้มากขึ้นจากการรวมกลุ่ม แต่มันไม่ได้จำเป็นอีกต่อไปแล้วในโลกสมัยใหม่ เหมือนๆ กับสัญชาตญาณของการเหยียดผิว
คนเราชอบผูกขาดความจริง เราอยากให้ความเชื่อของเราได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นความถูกต้องที่สังคมทั้งหมดต้องยอมรับ แต่ในความเป็นจริง ทุกคนในสังคมไม่มีทางคิดเหมือนกันได้หมด และคนอื่นๆ ก็อยากให้ความเชื่อของเขาได้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นความถูกต้องเช่นกัน กลายเป็นความขัดแย้งที่ไม่มีวันจบสิ้น
ในสังคมอำนาจนิยม บ่อยครั้งความขัดแย้งนี้จบลงด้วยการใช้อำนาจบังคับโดยผู้ที่มีอำนาจมากกว่า ถ้าเรามีอำนาจหรือสถานะทางสังคมที่เหนือว่าใครในสังคม เราก็มักจะใช้อำนาจนั้น บังคับทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้คนที่อยู่ใต้เราต้องเชื่อตามเราไปด้วยแบบไม่เต็มใจ เช่น ถ้าเราเป็นเจ้านาย เราก็แสดงออกว่าเราชอบลูกน้องคนที่คิดเหมือนเรามากกว่า หรือไม่รับใครเข้าทำงานด้วยเหตุผลที่ว่า เขามีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกันเรา เพื่อบังคับให้ลูกน้องหันมาคิดเหมือนเรา เป็นครูบาอาจารย์ก็บังคับลูกศิษย์ เป็นพ่อแม่ก็บังคับลูก ทั้งที่เราก็รู้ว่า คนเหล่านั้นไม่ได้เห็นด้วยกับเราจริงๆ เขาแค่กลัวเรา แต่เราก็ยังยินดีที่จะหลอกตัวเอง บังคับให้คนอื่นต้องไหว้หน้าหลังหลอก เพราะความต้องการที่จะผูกขาดความจริงของเรามันรุนแรงมาก และเราก็จะหาเหตุผลดีๆ มาสนับสนุนการใช้อำนาจในทางมิชอบของเรา เช่น บอกว่าเราทำเพื่อความถูกต้องบ้างล่ะ เพื่อความดีบ้างล่ะ แต่จริงๆ แล้วเราแค่อยากผูกขาดความจริง เป็นการทำเพื่อตัวเองล้วนๆ
ยิ่งเป็นเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง เรายิ่งรู้สึกรุนแรง เรารู้สึกเกลียดชังคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองฝั่งตรงข้ามกับเราอย่างมาก หลายๆ คนอยากให้คนจำนวนหนึ่งในสังคมตาย เพื่อให้สังคมที่เหลือทั้งหมดเห็นด้วยกับตัวเอง หลายคนอยากจับคนที่เห็นต่างมานั่งอธิบายยาวๆ ว่าเขาผิดยังไง และเราถูกยังไง ที่น่าตลกก็คือ คนที่เห็นต่างกับเราเองก็อยากเปลี่ยนเรามากเท่าๆ กับที่เราอยากเปลี่ยนเขานั่นแหละ ความคิดเห็นทางการเมืองเป็นอะไรที่หยั่งรากลึกมากๆ ในตัวคน ดังนั้นแค่การมานั่งอธิบายเหตุผลยาวเหยียดมักเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองไม่ได้ง่ายๆ ต่อให้เราเถียงจนอีกฝ่ายหนึ่งจนมุมด้วยเหตุผล สุดท้ายแล้ว เขาก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนความคิดอยู่ดี แต่เราเกลียดกันมากกว่าเดิม
บางคนบอกว่า ถ้าเราเถียงกันแต่เถียงด้วยเหตุผล ก็น่าจะดีไม่ใช่เหรอ ซึ่งอันนั้นผมก็เห็นด้วยแต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ในชีวิตจริงคือ คนเราส่วนใหญ่ใช้อารมณ์ทั้งนั้น คือเราใช้อารมณ์เลือกสิ่งที่เราถูกใจและไม่ถูกใจก่อน จากนั้นเราค่อยคิดหาเหตุผลมาสนับสนุนความถูกใจไม่ถูกใจของเรา เพื่อหลอกตัวเองว่าเรามีเหตุผล เหตุผลเหล่านั้นมักเป็นเหตุผลที่เราเลือกมาแต่อันที่สนับสนุนความถูกใจของเราเท่านั้น เหตุผลไหนที่ขัดแย้ง เราแกล้งละเลยโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น การเถียงกันจึงมักไม่ค่อยได้ประโยชน์จริงอย่างที่คิด ถ้าหากผมเจอคนที่ยังเปิดใจและพร้อมจะรับฟังเหตุผลของอีกฝ่ายหนึ่งจริงๆ ผมก็จะเสียเวลาอธิบายให้พวกเขาฟังนะ เพียงแต่ว่าในความจริง คนแบบนั้นมีอยู่น้อยมากๆ
ถ้าเราลองเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ต่อไปนี้ถ้าคนอื่นมีความคิดเห็นต่างจากเรา นั่นเป็นสิทธิของเขา เป็นเสรีภาพของเขา เราจะไม่พยายามเปลี่ยนเขา และเราก็ไม่มีสิทธิอะไรที่จะไปเปลี่ยนความคิดของเขาด้วย ความคิดเห็นก็เป็นเพียงแค่ความคิดเห็น ไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ แบบนี้ ชีวิตของเราของเราจะง่ายขึ้นมาก ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเปลี่ยนคนอื่น เอาเวลาและพลังงานไปทำอย่างอื่นเพื่อที่พัฒนาตัวเอง และทำสิ่งดีๆ ให้กันและกันดีกว่า
(ที่เขียนซะหล่อขนาดนี้ ใช่ว่าต้วเองจะทำได้แล้วนะ แต่ก็พยายามอยู่)