ปรัชญาชีวิตใหม่หลังเข้าสู่วัยกลางคน

ผมเกิดมาในยุคที่โลกมีความมั่นคงแน่นอนสูง ผมจึงถูกสอนให้วางแผนทุกอย่างเพื่ออนาคตข้างหน้า อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ทำงานหนักและออมเงินตลอดชีวิตเพื่อวัยเกษียณจะได้สบาย

แต่โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปมาก โลกหมุนเร็ว ไม่มีอะไรจิรังยั่งยืน หาความแน่นอนแทบไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำก็มหาศาล ไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่จะไม่รู้สึกอินกับวิธีคิดแบบคนรุ่นผม ไม่รู้จะหวังน้ำบ่อหน้าขนาดนั้นไปเพื่ออะไร ในเมื่อเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เมื่อวันนั้นมาถึง สิ่งที่เราพยายามสร้างมาตลอดชีวิตมันจะยังพึ่งพาได้อยู่มั้ย บางทีความเหลื่อมล้ำที่ถ่างขึ้นก็ทำให้ต่อให้ไม่ใช้เงินเลยตลอดชีวิตก็ยังเข้าถึงเป้าหมายเหล่านั้นไม่ได้ด้วย ผมจึงไม่โทษที่คนรุ่นใหม่เลือกที่จะใช้เงินเพื่อหาความสุขในปัจจุบันก่อน มันคือหลักเศรษฐศาสตร์ธรรมดาที่เมื่อความไม่แน่นอนสูงขึ้น คนเราย่อมให้น้ำหนักกับปัจจุบันมากกว่า

ผมเองก็เริ่มที่จะเห็นด้วยกับวิธีคิดแบบนี้ มันสอดคล้องกับโลกยุคนี้มากกว่า แทนที่จะเราทนลำบากตลอดชีวิตเพื่อให้เรารวยแค่ตอนแก่ เราน่าจะเปลี่ยนมาทำให้ตัวเองมีความสุขสบายบ้างในตอนหนุ่มด้วย คือเฉลี่ยความสุขของเราออกไปตลอดชีวิต จริงๆ แล้วคนเราไม่จำเป็นต้องรวยก่อนก็มีความสุขก็ได้ ลองหันมามองหาความสุขแบบที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะมากซึ่งสามารถหาได้ตั้งแต่วันนี้เลย บางทีที่เราอยากรวยก็เป็นเพราะคนรอบข้างกดดันเรา ไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของเรา

ชีวิตต่อไปของผมหลังจากนี้คงเป็นแนวสุขนิยมเป็นหลัก เลิกคิดว่าจะต้องประสบความสำเร็จอะไรก่อนแล้วค่อยมีความสุข แต่มุ่งตรงไปที่การหาความสุขเป็นหลัก เน้นความสุขที่ไม่ต้องใช้เงินมาก ได้ทำสิ่งที่ต้วเองต้องการจริงๆ คนอื่นเขาจะอยากได้อะไรก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ต้องไปสนใจ น่าจะเป็นกลยุทธ์การดำเนินชีวิตที่ดีกว่าเดิม

แผนการกินสำหรับปี 2024 (อีกแล้ว)

ปีหน้าก็คงจะทำ OMAD ทุกวันพฤหัสต่อไป เพราะถ้าไม่ทำคงควบคุมน้ำหนักไว้ไม่ได้ (เจอบุฟเฟ่ต์บ่อย)​

ส่วนวันอื่นๆ นั้น มื้อเช้า คือ โยเกิร์ต ถั่ว เบอรรี่ ไข่ลวก (ขอกลับมากินโยเกิร์ตอีกครั้ง ยอมแพ้เป้าหมายลดโลกร้อนไปก่อน)

มื้อกลางวันและเย็นต้องกินนอกบ้านเป็นหลัก เนื่องจากเหตุผลเรื่องความสะดวก ถ้าจะทำกินเอง จะเปลี่ยนมาทำแค่อาหารจำพวกสุกี้ (ชาบู นาเบะ ผัดหมาล่า) และสลัดต่างๆ เท่านั้น หรือไม่ก็มีแค่ผลไม้ติดตู้เย็นไว้ เช่น แอ็ปเปิ้ล กิมจิ อะโวกาโด เท่านั้น ถ้าจะทำอาหารคาวกินอย่างอื่นกินเอง คงต้องเป็นโอกาสพิเศษที่อยากลองทำจริงๆ เท่านั้น เพราะที่ผ่านมาพบว่าไม่มีเวลากินอาหารที่ตัวเองทำ ทำให้ยิ่งทำยิ่งอ้วน เพราะต้องกินให้หมด

ร้านประจำนอกบ้านจะเป็นร้านที่อยู่ทางผ่านเวลาเดินทาง อร่อย และราคาย่อมเยา เป็นหลัก อาทิ ร้านราดหน้าและส้มตำแถวคอนโด, ร้านอินเตอร์สยาม , หอยทอดชาวเล, บะหมี่สว่าง, ข้าวหมูแดงธานี, ข้าวมันไก่โกตา, Eat Am Are หรือไม่ก็ Yakiniku Like

น่าจะเป็นแผนที่มินิมัล และ Productive ที่สุดแล้ว

Reinventing myself

เวลาถูกถามว่า ถ้ามีเงินเยอะพอแล้ว คุณจะทำอะไรต่อไป คำตอบที่มีคนตอบมากที่สุดคือ เที่ยวรอบโลก

แต่การศึกษาพบว่า คนที่เกษียณเร็ว มักจะไปท่องเที่ยวแค่ประมาณ 3-4 ปีแรกเท่านั้น แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็จะอยู่เฉยๆ (ไปอีกนานมาก)​

โดยส่วนตัว ผมพบว่า คนเราไม่ได้อยากบริโภคไปเรื่อยๆ จนตาย แต่เราอยากรู้สึกว่าเรามีค่าได้ และงานประจำก็ให้สิ่งนี้แก่เราโดยอัตโนมัติ พอไม่มีงาน กลายเป็นเราต้องกระเสือกกระสนหาคุณค่าให้ตัวเอง กลายเป็นความทุกข์อีกแบบหนึ่ง

ณ ตอนนี้ ถ้าถามผม เกษียณแล้ว ผมอยากทำอะไรที่สุด ผมคิดว่า ผมอยากทำงานต่อไป เพราะยังไงๆ เราก็ยังต้องการความรู้สึกว่าตัวเองมีค่าจากงาน เพียงแต่พอมีเงินแล้ว เราสามารถเลือกได้ว่าจะทำงานอะไร ดังนั้นการได้ทำงานที่ตัวเองรักไปตลอดชีวิตน่าจะเป็นการเกษียณที่มีความสุขที่สุด มากกว่าการไปเที่ยวรอบโลก

งานที่มีเป้าหมายที่จะต้องบรรลุให้ประสบความสำเร็จ เพื่อที่จะได้มีแรงผลักนั้น ถ้าเป็นตอนหนุ่มๆ ก็น่าทำอยู่หรอก แต่พอแก่ตัวลง มันกลายเป็นกับดัก เพราะสุขภาพที่แย่ลง ข้อจำกัดที่มากขึ้น ทำให้เราไม่อาจลุยงานได้มากเหมือนแต่ก่อน ฉะนั้นงานหลังเกษียณควรเป็นงานที่ให้ความสุขกับเราได้แค่เพียงได้ทำ ไม่จำเป็นต้องบรรลุเป้าหมายอะไรที่ยิ่งใหญ่คับฟ้า คล้ายกับสิทธารถะในวัยสี่สิบที่เลือกจะเป็นแค่คนขับเรือข้ามฝาก ทำอะไรซ้ำๆ กันทุกวัน ดังนั้นงานที่ผมอยากทำก็คงเป็นเพียงแค่งานอะไรก็ได้ ที่ทำให้เราได้อยู่กับสิ่งที่เรารักทุกวัน

ตอนนี้คิดว่าถ้าเราได้เป็นครูสอนกีต้าร์ หรือครูสอนภาษา หรือทำช่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี ก็น่าจะเป็นคำตอบแล้ว เหล่านี้เป็นงานเพราะมันสร้างรายได้ และพวกมันก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ผมอยากทำในวัยนี้ ปัญหาตอนนี้ก็คงเหลือแค่การ reinvent ตัวเองให้มีคุณสมบัติที่จะไปทำงานเหล่านี้ได้ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ก็จะลองดูสักตั้ง