Carl Jung กับเป้าหมายของชีวิต

ยุงเชื่อว่าจิตใจของคนเรามีทั้งส่วนที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (จิตไร้สำนึก)​ ซึ่งก็คล้ายๆ กับฟรอยด์ แต่ยุงไม่ได้เชื่อว่าจิตไร้สำนึกเป็นที่อยู่ของแรงขับเรื่องเพศและความก้าวร้าวเป็นหลักแบบฟรอยด์ ยุงเชื่อว่าจิตไร้สำนึกมีอะไรมากกว่านั้น คือเกี่ยวข้องแทบจะทุกเรื่องในชีวิตของเราเลย

เมื่อคนเราเติบโตขึ้นและต้องอยู่ร่วมกับสังคม ความต้องการทั้งหลายของเราจะชนเข้ากับความต้องการของสังคม ทำให้เราต้องปรับตัวด้วยการซ่อนหรือกดเก็บความต้องการบางอย่างของเราไว้ในจิตไร้สำนึก ทำให้เราไม่รู้ตัวอีกต่อไปว่าเรามีด้านนั้นๆ อยู่ในตัวเราด้วย ถึงจุดหนึ่งการห่างเหินจากด้านที่หายไปของเราจะเริ่มกลับมาสร้างปัญหาในการใช้ชีวิต ดังนั้นหน้าที่ของเราคือการดึงส่วนที่หายไปนั้นกลับมา เพื่อให้เรากลับมาเป็นคนที่สมบูรณ์ จุงเรียกกระบวนการนี้ว่า Individuation

อาจกล่าวได้ว่า เป้าหมายชีวิตของทุกคนคือกระบวนการ Individuation นี่แหละ ยิ่งโตขึ้น เรายิ่งต้องค่อยๆ รู้จักตัวเองในด้านลึกให้มากขึ้น ยอมรับว่าเรามีด้านมืดในบุคลิกภาพของเราอยู่ โดยไม่ตัดสิน ดึงมันกลับมาให้เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของเราอีกครั้ง หาทางนำมันมาใช้ในทางที่เกิดประโยชน์และในเวลาเดียวกันก็ไม่เดือดร้อนสังคม แทนที่จะหลอกตัวเองว่าเราไม่มีด้านเหล่านั้นแล้วกดเก็บมันไปเรื่อยๆ จนระเบิดออกมา คนที่ผ่านกระบวนการ Individuation ได้สำเร็จจะเป็นคนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์​ [คล้ายกับเรื่อง Self-actualization ของ Maslow]

มีหลายวิธีที่จะทำให้เราสามารถเข้าถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึกของเราได้ เช่น การเขียนบันทึกประจำวันเป็นประจำ หรือการหาโอกาสอยู่คนเดียวเงียบๆ เพื่อฟังเสียงในใจของตัวเองบ้าง รวมไปถึงการสังเกตตัวเองว่ามีความสุขกับอะไรบ้าง กิจกรรมอะไรที่ทำแล้วมีความสุขจนลืมเวลา การสังเกตว่าเรารู้สึกโกรธมากเป็นพิเศษเวลาที่เราถูกคนอื่นวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องอะไร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาประกอบกันเพื่อทำให้เราเข้าใจจิตไร้สำนึกของตัวเองมากขึ้น แต่โดยมากแล้วเราอาจต้องใช้เวลาจนถึงอายุประมาณ 40 ปีกว่าจะรู้จักตัวเอง

บางคนกดเก็บความคิดในด้านมืดของตัวเองไว้ตลอดเวลา ปฏิเสธว่าตนเองมีความอิจฉาริษยาผู้อื่น ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีด้านที่คิดลบด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีมนุษย์คนไหนที่ไม่มีด้านมืดเลย สุดท้ายแล้วมันจึงกลายเป็นการหลอกตัวเอง (toxic positivity) กลายเป็นปัญหาบุคลิกภาพ พวกเขาอาจเก็บกดจนเกิดความเครียด หรือระเบิดออกมาในที่สุด ในขณะที่คนที่มีจิตใจที่สมดุลมากกว่า จะยอมรับความจริงว่าตัวเองมีความคิดด้านลบอยู่ด้วย แต่พยายามแสดงออกหรือนำมันมาใช้ในทางที่เกิดประโยชน์และสังคมยอมรับ เช่น ใช้เป็นแรงผลักดันให้พัฒนาตนเอง เป็นต้น เป็นบุคลิกภาพที่สมดุลมากกว่า และมั่นคงในระยะยาว

บางคนประสบความสำเร็จในชีวิตสูงมาก มีเงินมากมาย มีอำนาจ มีชื่อเสียง มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ในทางจิตใจแล้วเป็นคนที่เก็บกด มีจิตใจอิจฉาริษยาคนอื่น ยังโหยหาการยอมรับจากสังคมอยู่ร่ำไป ฯลฯ เป็นคนที่ยังไม่เต็ม ก็ไม่นับว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ในขณะที่คนที่บรรลุ Self-actualization แล้ว แม้ว่าจะดูเหมือนประสบความสำเร็จในทางวัตถุน้อยกว่า แต่ก็ชื่อได้ว่าเป็นคนที่บรรลุเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่แล้ว

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *