Carl Jung และ Archetypes

ยุงบอกว่า จิตไร้สำนึกของคนเรามีสองส่วน

ส่วนแรกคือ Personal Unconscientiousness ซึ่งเก็บเรื่องราวเฉพาะบุคคลของแต่ละคนเอาไว้

กับส่วนที่สองคือ Collective Unconscientiousness ซึ่งเป็นส่วนที่แชร์กันระหว่างมนุษยชาติ เกิดจากประสบการณ์ของบรรพบุรุษของเราที่สะสมรวมกันมาในพันธุกรรม แล้วถ่ายทอดลงมาในจิตไร้สำนึกของมนุษย์ทุกคน

สังเกตได้จาก เด็กแรกเกิดจำนวนมากจะกลัวงู ทั้งที่ไม่เคยเห็นงูมาก่อนในชีวิต เพราะงูเป็นศัตรูของมนุษย์มาต้ังแต่ยุคหิน ความกลัวงูจึงเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม และทำให้มนุษย์สมัยใหม่กลัวงูตั้งแต่เกิด โดยที่ไม่จำเป็นต้องเคยเจองูมาก่อน สัตว์จำพวกนกก็กลัวเหยี่ยวตั้งแต่เกิดเหมือนกัน

นอกจากนี้ จิตใต้สำนึกร่วมกันที่ว่านี้ยังมีอยู่ในคนทุกชาติทุกภาษาทั้งที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน ซึ่งสังเกตได้จากสัญลักษณ์หลายๆ อย่างที่มีร่วมกันอยู่ในทุกๆ วัฒนธรรม เรียกว่า Archetypes ตัวอย่างเช่น สัญลักษณ์เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ในศาสนามักจะมีรูปวงกลม หรือจุดศูนย์กลาง หรือชายแก่มักเป็นสัญลักษณ์แทนปัญญา หรือนิทานปรัมปราของหลายๆ เชื้อชาติ มีโครงเรื่องที่เหมือนกัน เช่น มีวีรบุรุษที่ต้องระเหเร่ร่อนตอนเด็กๆ แล้วกลับมายิ่งใหญ่ในตอนจบ หรือลูกกษัตริย์ที่ฆ่าพ่อของตัวเอง เป็นต้น

ในแง่ของความต้องการและจุดมุ่งหมายในชีวิตของคนเรา ยุงได้ไขออกมาว่าคนเรามีความต้องการสูงสุดในชีวิตได้ 12 แบบ เรียกว่า the 12 archetypes ซึ่งแต่ละคนจะมีแบบใดแบบหนึ่งที่เด่นมากเป็นพิเศษ และทุกคนสามารถใช้ 12 archetypes เป็นแนวทางในการค้นหาความต้องการที่ซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึกของตัวเองได้ด้วย

Joseph Campbell เป็นคนที่หนึ่งที่เอาแนวคิดนี้มาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเขียนบทภาพยนตร์หรือนิยายหรือนิทานหลายๆ เรื่องที่มีโครงเรื่องคล้ายกัน เรียกว่า the Hero’s Journey ตัวอย่างเช่น สตาร์วอร์ส และอีกหลายๆ เรื่องที่มีพล็อตเรื่องเกี่ยวกับฮีโร่ ซึ่งอาจเป็นความบังเอิญในจิตใต้สำนึกของผู้ประพันธ์ ที่ต้องการเรื่องราวอะไรทำนองนี้ และมีอยู่ในทุกชาติทุกภาษา

 

 

Carl Jung กับเป้าหมายของชีวิต

ยุงเชื่อว่าจิตใจของคนเรามีทั้งส่วนที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว (จิตไร้สำนึก)​ ซึ่งก็คล้ายๆ กับฟรอยด์ แต่ยุงไม่ได้เชื่อว่าจิตไร้สำนึกเป็นที่อยู่ของแรงขับเรื่องเพศและความก้าวร้าวเป็นหลักแบบฟรอยด์ ยุงเชื่อว่าจิตไร้สำนึกมีอะไรมากกว่านั้น คือเกี่ยวข้องแทบจะทุกเรื่องในชีวิตของเราเลย

เมื่อคนเราเติบโตขึ้นและต้องอยู่ร่วมกับสังคม ความต้องการทั้งหลายของเราจะชนเข้ากับความต้องการของสังคม ทำให้เราต้องปรับตัวด้วยการซ่อนหรือกดเก็บความต้องการบางอย่างของเราไว้ในจิตไร้สำนึก ทำให้เราไม่รู้ตัวอีกต่อไปว่าเรามีด้านนั้นๆ อยู่ในตัวเราด้วย ถึงจุดหนึ่งการห่างเหินจากด้านที่หายไปของเราจะเริ่มกลับมาสร้างปัญหาในการใช้ชีวิต ดังนั้นหน้าที่ของเราคือการดึงส่วนที่หายไปนั้นกลับมา เพื่อให้เรากลับมาเป็นคนที่สมบูรณ์ จุงเรียกกระบวนการนี้ว่า Individuation

อาจกล่าวได้ว่า เป้าหมายชีวิตของทุกคนคือกระบวนการ Individuation นี่แหละ ยิ่งโตขึ้น เรายิ่งต้องค่อยๆ รู้จักตัวเองในด้านลึกให้มากขึ้น ยอมรับว่าเรามีด้านมืดในบุคลิกภาพของเราอยู่ โดยไม่ตัดสิน ดึงมันกลับมาให้เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพของเราอีกครั้ง หาทางนำมันมาใช้ในทางที่เกิดประโยชน์และในเวลาเดียวกันก็ไม่เดือดร้อนสังคม แทนที่จะหลอกตัวเองว่าเราไม่มีด้านเหล่านั้นแล้วกดเก็บมันไปเรื่อยๆ จนระเบิดออกมา คนที่ผ่านกระบวนการ Individuation ได้สำเร็จจะเป็นคนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์​ [คล้ายกับเรื่อง Self-actualization ของ Maslow]

มีหลายวิธีที่จะทำให้เราสามารถเข้าถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึกของเราได้ เช่น การเขียนบันทึกประจำวันเป็นประจำ หรือการหาโอกาสอยู่คนเดียวเงียบๆ เพื่อฟังเสียงในใจของตัวเองบ้าง รวมไปถึงการสังเกตตัวเองว่ามีความสุขกับอะไรบ้าง กิจกรรมอะไรที่ทำแล้วมีความสุขจนลืมเวลา การสังเกตว่าเรารู้สึกโกรธมากเป็นพิเศษเวลาที่เราถูกคนอื่นวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องอะไร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาประกอบกันเพื่อทำให้เราเข้าใจจิตไร้สำนึกของตัวเองมากขึ้น แต่โดยมากแล้วเราอาจต้องใช้เวลาจนถึงอายุประมาณ 40 ปีกว่าจะรู้จักตัวเอง

บางคนกดเก็บความคิดในด้านมืดของตัวเองไว้ตลอดเวลา ปฏิเสธว่าตนเองมีความอิจฉาริษยาผู้อื่น ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีด้านที่คิดลบด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีมนุษย์คนไหนที่ไม่มีด้านมืดเลย สุดท้ายแล้วมันจึงกลายเป็นการหลอกตัวเอง (toxic positivity) กลายเป็นปัญหาบุคลิกภาพ พวกเขาอาจเก็บกดจนเกิดความเครียด หรือระเบิดออกมาในที่สุด ในขณะที่คนที่มีจิตใจที่สมดุลมากกว่า จะยอมรับความจริงว่าตัวเองมีความคิดด้านลบอยู่ด้วย แต่พยายามแสดงออกหรือนำมันมาใช้ในทางที่เกิดประโยชน์และสังคมยอมรับ เช่น ใช้เป็นแรงผลักดันให้พัฒนาตนเอง เป็นต้น เป็นบุคลิกภาพที่สมดุลมากกว่า และมั่นคงในระยะยาว

บางคนประสบความสำเร็จในชีวิตสูงมาก มีเงินมากมาย มีอำนาจ มีชื่อเสียง มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ในทางจิตใจแล้วเป็นคนที่เก็บกด มีจิตใจอิจฉาริษยาคนอื่น ยังโหยหาการยอมรับจากสังคมอยู่ร่ำไป ฯลฯ เป็นคนที่ยังไม่เต็ม ก็ไม่นับว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ในขณะที่คนที่บรรลุ Self-actualization แล้ว แม้ว่าจะดูเหมือนประสบความสำเร็จในทางวัตถุน้อยกว่า แต่ก็ชื่อได้ว่าเป็นคนที่บรรลุเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่แล้ว

 

Existentialism กับความหมายของชีวิต

ตามแนวคิด Existentialism ชีวิตโดยเนื้อแท้ไม่ได้มีความหมายใดๆ มีแต่ความว่างเปล่า ซึ่งถ้าหากหยุดแค่นี้ก็ดูเหมือนเป็นโชคร้ายอย่างยิ่งที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และทำให้บางคนเข้าใจผิดว่าปรัชญาแนวนี้มองโลกในแง่ร้าย ซึ่งที่จริงแล้วตรงกันข้าม

ปรัชญาแนวนี้มองว่า ถ้าเราจะมองว่าการที่ชีวิตไม่มีความหมายใดๆ เป็นเรื่องโชคร้ายก็ได้ แต่ในเวลาเดียวกัน มันคือโชคดีด้วย เพราะนั่นหมายความว่า คนเรามีอิสระที่จะสร้างความหมายของชีวิตขึ้นมาเองอย่างไรก็ได้ มีคือเสรีภาพ

แต่สิ่งที่มนุษย์จำนวนมากในอดีตทำคือแทนที่จะนิยามความหมายของชีวิตขึ้นมาด้วยตัวเอง เราขี้เกียจ เราละทิ้งเสรีภาพนั้น และวิ่งเข้าหาสิ่งนอกตัวให้ช่วยกำหนดความหมายของชีวิตให้ ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ครูอาจารย์ ศาสนา สังคม การเมือง ซึ่งปรัชญาแนวนี้มองว่า การทำเช่นนั้นก็เหมือนเราไม่เคยมีชีวิตอยู่เลยในทางจิตวิญญาณ

ดังนั้นตามแนวคิดนี้ ทุกคนมีหน้าที่ค้นหาตัวเอง เข้าใจตัวเอง แล้วกำหนดคุณค่าและความหมายชีวิตของตัวเองขึ้นมาด้วยตัวของเราเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาบอก หรือปล่อยให้สังคมเป็นคนกำหนด ซึ่งโดยสันดานแล้ว มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ชอบแบบนั้น เพราะว่ามันเป็นชีวิตที่ยากกว่า ดังคำกล่าวที่ว่า เราโดนสาปให้มีอิสระ เราชอบเป็นทาสมากกว่า เพราะว่ามันง่ายดี ไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง

แต่ถ้าเราอยากใช้ชีวิตนี้ให้คุ้มค่ากับการที่ได้เกิดมา จงเลือกที่จะกำหนดทางเดินชีวิตของตัวเอง พัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อไปให้สุดทางนั้น และรับผิดชอบการกระทำทุกอย่างของตัวเอง แม้ว่าการทำเช่นนั้นอาจทำให้คนรอบข้างไม่ถูกใจ ไม่ได้เป็นที่รัก หรือไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมส่วนใหญ่ก็ตาม

หลายคนเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ทำให้คนรอบข้างยอมรับ เช่น เลือกอาชีพที่ได้เงินเดือนสูงแต่ไม่ได้ชอบเลยสักนิด แต่งงานกับคนที่ตัวเองไม่ได้รัก เพื่อให้พ่อแม่พอใจ เลือกคบคนหรือเลือกใช้ของที่ตัวเองไม่ได้ชอบแต่ทำตามสถานะทางสังคมที่โลกภายนอกกำหนดมาให้ เพื่อไม่ให้ดูเป็นคนแปลกๆ สุดท้ายแล้ว ชีวิตแบบนั้นก็ไม่ได้มีความสุข เพราะมัวแต่ทำตามความคาดหวังของคนอื่น กลายเป็นทาสของคนอื่น ตายไปก็ไม่ได้ทำอะไรเลยที่ตัวเองรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามีความหมายต่อชีวิต ต่างจากคนที่เลือกทางเดินชีวิตของตัวเอง เลือกอาชีพที่ตัวเองอยากทำจริงๆ แม้ว่าจะขัดใจคนรอบข้าง หรือไม่ได้รับการชื่นชมจากสังคมส่วนใหญ่ (ซึ่งบ่อยครั้งสังคมส่วนใหญ่ก็ตัดสินอะไรแบบผิวเผิน) แต่ก็ได้ทำชีวิตทุกวันให้มีความสุขได้ด้วยการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อเองจริงๆ ทุกวันก็เป็นชีวิตที่คุ้มค่ามากกว่า

คนที่เป็นแนว Existentialist จะเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบมี Passion กับอะไรบางอย่าง ไม่ใช่คนที่ซังกะตาย หรือปล่อยเวลาให้ผ่านไปวันๆ มีเป้าหมาย มีจุดมุ่งหมาย มีคุณค่า (ซึ่ง Existentialist แต่ละคนอาจนิยามคุณค่าที่ไม่เหมือนกันเลยสักนิด) กล้าเสี่ยง กล้าไปให้ถึงขีดจำกัด รับผิดชอบชีวิตของตัวเอง ไม่โทษคนอื่น ไม่โทษสังคม ไม่เชื่ออะไรแบบหลับหูหลับตา และตั้งคำถามกับความเชื่อเก่าๆ อยู่เสมอ